คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินสำนักงาน ก.พ. ให้รับผิดในยอดเงินขาดบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบ ระหว่างพิจารณาปรากฏผลการตรวจสอบครั้งหลังว่ายอดเงินขาดบัญชีมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 9,600 บาท เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179,180 โจทก์จะฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่างหากในเรื่องเดียวกันนี้เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 173(1) และปัญหาอำนาจฟ้องนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยโจทก์ที่ 1 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือราชการอื่นซึ่งมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดโดยเฉพาะ โจทก์ที่ 2 เป็นส่วนราชการสังกัดโจทก์ที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 จำเลยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของสำนักงาน ก.พ. โจทก์ที่ 2 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกคลังและหัวหน้าแผนกเงิน สำนักงานเลขานุการระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2501 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2506 จำเลยบังอาจทุจริตเบียดบังเงินประเภทเงินยืมรองจ่ายของโจทก์จำนวน 9,600 บาท ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบเป็นของตน โดยใช้วิธีนำเอกสารใบยืม 4 ฉบับของนายสุธี สิงห์เสน่ห์ และนายบำรุง พินธุวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้เบิกเป็นค่าจ้าง 3 เดือน จำนวนเงิน 6,600 บาท และค่าภาษีอากรสินค้าขาเข้าจำนวนเงิน 3,000 บาท ซึ่งความจริงผู้ยืมทั้งสองได้จัดการส่งใช้หักล้างเงินยืมทั้งสองจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญว่าเงินจำนวนนี้ยังอยู่ที่ผู้ยืมทั้งสอง โจทก์ทราบความทุจริตของจำเลยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508ขอให้บังคับจำเลยชำระ

จำเลยให้การต่อสู้ว่า ฟ้องขาดอายุความ ซึ่งต้องนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2505 และคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยแล้วตามคดีดำที่ 1271/2507 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ก่อนสืบพยานโจทก์ ศาลสอบถามข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้ตามสำนวนคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องไว้ในคดีดังกล่าว เพียงแต่แสดงบัญชีให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่จำเลยส่งหลักฐานใบยืมแทนตัวเงินซึ่งความจริงหนี้สองจำนวนในคดีนี้เป็นหนี้ที่มีการส่งใช้เงินแล้ว แต่จำเลยอ้างว่ายังไม่ได้ใช้ โดยกลับเบียดบังเอาไปเสีย ศาลจึงสั่งว่ากรณีมิใช่เรื่องฟ้องเรียกหนี้ซ้ำดังจำเลยต่อสู้ พิพากษาว่าคดีไม่ขาดอายุความและไม่เป็นฟ้องซ้ำ ให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์ชอบที่จะเพิ่มเติมฟ้องในคดีดำที่ 1271/2507 สำหรับเงินจำนวนตามฟ้องคดีนี้ซึ่งโจทก์คำนวณขาดไป

ข้อเท็จจริงได้ความว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจบัญชีสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2505 และตัดยอดถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2506 ปรากฏว่าเงินขาดบัญชี จำเลยอ้างว่าลงบัญชีไม่ทันและส่งหลักฐานให้ไม่ได้ ต่อมาได้รวบรวมหลักฐานยอดเงินยืมรองจ่ายมาหักล้างเงินยืมที่ขาดบัญชีได้รวม 48 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งรายนายสุธีและนายบำรุง จำนวน 9,600 บาทตามฟ้องนี้ด้วย ซึ่งยังขาดอยู่อีก 8 หมื่นบาทเศษ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในเงินที่ขาดนี้ตามคดีดำที่ 1271/2507 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2508 หัวหน้ากองคลังรายงานผลการตรวจสอบบัญชีเงินยืมรองจ่ายว่า รายนายสุธีจำนวน 6,600 บาท และนายบำรุงจำนวน 3,000 บาท ได้มีการชดใช้การยืมแล้วซึ่งเลขาธิการ ก.พ. รับทราบเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 และได้สั่งให้ดำเนินการต่อไป

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในเงินจำนวน 8 หมื่นบาทเศษที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจตัดยอดครั้งแรกตามคดีดำที่ 1271/2507 แล้ว และต่อมาได้ปรากฏว่า เงินยืมรองจ่ายรายนายสุธีและนายบำรุงนั้น ความจริงได้มีการชดใช้คืนแล้ว จำนวนเงินที่ขาดจึงเพิ่มขึ้นอีก9,600 บาท ซึ่งเป็นการตรวจพบภายหลังฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์ได้ฟ้องไว้ในคดีนั้นเอง ซึ่งโจทก์ชอบที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ เพราะเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา และ มีความเกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179,180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีใหม่ จึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันในศาลเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกา ศาลย่อมยกขึ้นเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share