แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง…” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1)…(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์และสินค้าอื่น ๆ เมื่อพิจารณาชื่อของบริษัท ศ. ลูกหนี้แล้ว เห็นว่า เป็นบริษัทค้าวัสดุ และบริษัทดังกล่าวติดต่อซื้อปูนซีเมนต์ไปจากโจทก์ เมื่อปี 2536 ต่อมาปี 2537 จำเลยทั้งสองจึงผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัท ศ. เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าปูนซีเมนต์ที่บริษัทดังกล่าวมีอยู่ต่อโจทก์ก่อนแล้ว หรือขณะทำสัญญาค้ำประกันรวมทั้งหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยกำหนดต้นเงินค้ำประกันสูงถึง 6,000,000 บาท แสดงว่าการซื้อขายปูนซีเมนต์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ศ. มิได้กระทำเพียงคราวเดียว แต่เป็นการซื้อขายปูนซีเมนต์จำนวนมากต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2536 จึงเชื่อว่า บริษัท ศ. ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์ไปเพื่อจำหน่าย มิใช่ซื้อไปเพื่อให้เป็นการเฉพาะภายในบริษัท กรณีย่อมตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี มิใช่สองปี
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ศ. ชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดด้วย แต่โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียวและการที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 291 และมาตรา 292 เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่บริษัท ศ. ในคดีอื่นซ้ำซ้อนกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงกำหนดความรับผิดในการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ศ. ไว้ในคำพิพากษาคดีนี้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันให้ร่วมรับผิดกับบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ส่วนจำเลยทั้งสองให้ยกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 275,563.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม มูลหนี้เดิมที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดคือมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายซึ่งมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด เข้าทำสัญญากับโจทก์ตั้งแต่ปี 2536 โจทก์จึงต้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดภายในปี 2538 โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 เกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด เป็นการซื้อขายระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรือุตสาหกรรมกับบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ซึ่งได้ซื้อปูนซีเมนต์ไปจากโจทก์เพื่อกิจการค้าของบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปีนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตกรรม… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง…” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1)…(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์และสินค้าอื่น ๆ เมื่อพิจารณาชื่อของบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด แล้ว เห็นว่า เป็นบริษัทค้าวัสดุ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า บริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ติดต่อซื้อปูนซีเมนต์ไปจากโจทก์เมื่อปี 2536 ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2537 จำเลยทั้งสองจึงผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด เพื่อชำระหนี้หนี้ค่าซื้อสินค้าปูนซีเมนต์ที่บริษัทดังกล่าวมีอยู่ต่อโจทก์ก่อนแล้ว หรือขณะทำสัญญาค้ำประกัน รวมทั้งหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดต้นเงินค้ำประกันสูงถึง 6,000,000 บาท แสดงว่าการซื้อขายปูนซีเมนต์ระหว่างโจทก์กับบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด มิได้กระทำเพียงครั้งหนึ่งคราวเดียวแต่เป็นการซื้อขายปูนซีเมนต์จำนวนมากต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2536 จึงเชื่อว่าบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์ไปเพื่อจำหน่ายมิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัท กรณีย่อมตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี มิใช่สองปี ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1077/2544 พิพากษาให้บริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อไป นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ แสดงว่าบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ผิดนัดนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา แม้นางสาวมัลลิกา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า หนี้ค่าซื้อปูนซีเมนต์ของบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ครบกำหนดชำระวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 ก็ตาม แต่เมื่อนับจากวันดังกล่าวถึงวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 6 กันยายน 2544 แล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดอายุความห้าปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น เนื่องจากโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงมาเสร็จสิ้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1077/2544 พิพากษา ให้บริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ชำระเงินจำนวน 254,094.56 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 201,706.21 บาท นับถัดจากวันฟ้อง คือวันที่ 21 ธันวาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดด้วย แต่โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว และการที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 และมาตรา 292 เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่บริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1077/2544 ซ้ำซ้อนกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงกำหนดความรับผิดในการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองไว้ในคำพิพากษานี้ด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 254,094.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 201,706.21 บาท นับถัดจากวันที่ 21 ธันวาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับบริษัทศรียนต์ค้าวัสดุ จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1077/2544 ของศาลชั้นต้น