แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
รถแท็กซี่เป็นของจำเลยที่ 2 นำมาใช้วิ่งในนามของสหกรณ์จำเลยที่ 3 โดยเสียค่าบำรุงเป็นรายเดือนให้จำเลยที่ 3 ทั้งมีตราของจำเลยที่ 3 อยู่ที่ประตูรถ คนทั่วไปที่พบเห็นรถคันดังกล่าวต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 3 เท่ากับจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคนขับเป็นตัวแทนในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2ก็มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 2ท-1042 กรุงเทพมหานคร โอนเข้าร่วมกิจการกับโจทก์ที่ 3 เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 2ท-0181 กรุงเทพมหานครไปรับจ้างรับส่งคนโดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2526 เวลาประมาณ 01.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถยนต์คันของจำเลยที่ 2ไปตามถนนพระราม 4 ด้วยความประมาทเลินเล่อคือขับรถด้วยความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมิได้ดูทางข้างหน้าให้ดี เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งนายสายพิณ คำทะเนตร์ ขับตามถนนพระราม 4จากคลองเตยไปศาลาแดงผ่านทางแยกถนนวิทยุ รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน120,677.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน112,915 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 ที่ 3ให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบ โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้กระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับขี่วันเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1เช่าไป จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถประมาท คนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาท รถโจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ค่าซ่อมไม่เกิน 8,000 บาทค่ายกรถไม่เกิน 300 บาท รถโจทก์ไม่เสื่อมราคา ซ่อมไม่เกิน 15 วันค่าเช่าไม่เกินวันละ 150 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 64,215 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาในประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทนั้น ปัญหานี้โจทก์มีพยานคือนายสายพิณ คำทะเนตร์ คนขับรถโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1ขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถโจทก์ กับร้อยตำรวจโทโกมลยิ้มเป็นใย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า สอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ขับรถล้ำแนวเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนมาในทางเดินรถของโจทก์เพื่อจะเลี้ยวขวาซึ่งในขณะนั้นสัญญาณไฟให้รถทางตรงวิ่ง และปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 ว่าร้อยตำรวจโทโกมลได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถอื่นได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับเป็นเงิน 400 บาท ฝ่ายจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ เป็นทำนองว่า ตนมิได้เป็นฝ่ายประมาทพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท โดยคนขับรถของโจทก์มิได้ประมาทด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่ารถแท็กซี่เป็นของจำเลยที่ 2 นำมาใช้วิ่งในนามของสหกรณ์จำเลยที่ 3 โดยเสียค่าบำรุงให้สหกรณ์จำเลยที่ 3 เดือนละ90 บาท นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายสายพิณ คำทะเนตร์ว่ารถแท๊กซี่คันที่จำเลยที่ 1 ขับมีตราของจำเลยที่ 3 อยู่ที่ประตูหลังของรถด้านขวา ดังนั้นคนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถแท็กซี่คันดังกล่าวจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3ก็ยังได้ผลประโยชน์จากการนี้ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2ก็ปรากฏว่าเป็นเจ้าของรถแท็กซี่คันนี้ จำเลยที่ 2 นำมาวิ่งในนามของจำเลยที่ 3 ย่อมจะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3และจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าให้จำเลยที่ 1 เช่ารถไปนั้นปรากฏตามสัญญาเช่าระบุค่าเช่ากันเพียงวันละ 150 บาท ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ต่ำเกินไปจนไม่น่าเชื่อถือ จึงฟังไม่ได้ว่าจะเป็นการเช่ากันจริง การที่จำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เช่นกัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของทั้งจำเลยและโจทก์เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายนั้น ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า นายสายพิณคนขับรถของโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย จึงได้ลดค่าเสียหายให้ฝ่ายจำเลยเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทโดยคนขับรถของโจทก์มิได้ประมาทด้วย จึงไม่ชอบที่จะลดค่าเสียหายให้ฝ่ายจำเลยเพราะเหตุนี้ ส่วนค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้นฝ่ายโจทก์มีพยานคือนายอรุณ ปราชญานุกูล ซึ่งเป็นเจ้าของอู่ที่ซ่อมรถโจทก์ว่า รถโจทก์เสียหายคือ บังโกลนซ้ายขวาบุบบี้ฝากระโปรงบุบบี้ หม้อน้ำแตก เครื่องแตก พวงมาลัยงอ กระจกมองหลังแตก กระจกประตูด้านหลังขวาแตก เกียร์แตกใช้การไม่ได้ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ภจ.1-ภจ.13 พยานคิดค่าซ่อมรถ 15,000 บาทปรากฏตามบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4 ส่วนอะไหล่ต่าง ๆนายวิโรจน์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นผู้ซื้อมาให้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6-จ.9 ใช้เวลาซ่อม 3 เดือน รถเสื่อมราคาลง10,000 บาท นายวิโรจน์เบิกความว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับคือต้องจ่ายค่าซ่อมและค่าอะไหล่ เป็นเงิน 71,315 บาท ตามเอกสารจ.5-จ.9 ขาดรายได้จากการให้เช่ารถวันละ 340 บาท เวลา 3 เดือนเป็นเงิน 30,600 บาท ค่ายกรถมาที่อู่ซ่อม 1,000 บาท ฝ่ายจำเลยมีนายศูนย์ แซ่แต้ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างซ่อมรถเบิกความว่า ประเมินค่าซ่อมรถโจทก์ประมาณ 8,000 บาท ค่ายกรถ 300 บาท รวมเป็น8,300 บาท เห็นว่า ตามภาพถ่าย ภจ.1-ภจ.13 รถแท็กซี่ของโจทก์เสียหายมาก ส่วนหน้าของรถอยู่ในสภาพเกือบเป็นเศษเหล็กการซ่อมแซมให้ดีต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก อนึ่ง นายศูนย์พยานจำเลยเพียงแต่ประเมินค่าเสียหายกว้าง ๆ โดยไม่ได้ซ่อมแซมและซื้ออะไหล่เอง จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ที่ซ่อมแซมจริงและได้ซื้ออะไหล่มาจริง ปรากฏตามบิลเงินสดของร้านเจริญอาหลั่ยพานิชเอกสาร จ.6-จ.9 เป็นเงินรวม 56,315 บาท เชื่อว่าโจทก์ได้ซื้อมาซ่อมแซมจริง ค่าซ่อมเป็นเงิน 15,000 บาท เป็นราคาที่พอสมควรส่วนค่ายกรถ 1,000 บาท ตามใบรับเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดธนบุรีบริการยกรถ เอกสารหมาย จ.10 ก็เห็นว่าพอสมควร สำหรับค่าเสื่อมราคาที่โจทก์ตั้งไว้ 10,000 บาท เห็นว่า เมื่อรถเก่าซ่อมดีแล้ว ค่าเสื่อมราคาไม่น่าเกิน 5,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ที่ได้รับคือการให้เช่าซึ่งโจทก์ขอมาวันละ 340 บาท นั้น เห็นว่ารถแท็กซี่ของโจทก์มีสภาพเก่าแล้ว น่าจะให้เช่าได้วันละ 300 บาทเสียเวลาซ่อมประมาณ 1 เดือน เป็นค่าเช่า 9,000 บาท ดังนั้นเมื่อรวมค่าอะไหล่ 56,315 บาท ค่าซ่อม 15,000 บาท ค่ายกรถมาซ่อม1,000 บาท ค่าเสื่อมราคา 5,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ 9,000 บาทแล้วเป็นเงิน 86,315 บาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 86,315 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์