แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายแจ้งวันประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 306 จำเลยที่ 2 มิได้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 296 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้ถึงที่สุดไม่
ตามบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) และมาตรา 316 วรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคหนึ่ง และการจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 318 หากเจ้าพนักงานบังคับคดียังปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เนื่องจากยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ดังนี้ จึงถือว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์นี้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,451,932.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,362,332.21 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มีนาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าทนายความจำนวน 17,824.58 บาท โดยจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 18 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21746 ตำบลคลองหนึ่ง (คลอง 1 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21746 พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และในการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวในครั้งที่ 8 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายให้แก่นางมลฤดีผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในราคา 2,030,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 600 บาท แทนผู้ซื้อทรัพย์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21746 ดังกล่าว โดยประเมินราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,100,000 บาท และประกาศขายทอดตลาดรวม 8 ครั้ง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2542 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 แต่ไม่มีผู้สนใจเข้าสู้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขายทอดตลาดไว้ และได้ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 21 มีนาคม 2544 นางสาวนิภาเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจำนวน 1,000,000 บาท และ 1,430,000 บาท ตามลำดับ แต่โจทก์และจำเลยที่ 2 ค้านว่าราคาต่ำ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขายทอดตลาดไว้ และได้ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 5 ถึงครั้งที่ 7 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 วันที่ 19 ธันวาคม 2544 และวันที่ 16 มกราคม 2545 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน โดยอ้างว่าการขายทอดตลาดต่อไปจะทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่อยู่และประกอบอาชีพของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาขอลดยอดหนี้กับโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 ในวันนัดไต่สวน ทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่า หากจำเลยที่ 2 สามารถขายบ้านได้เองจะได้ราคาดีกว่าการขายทอดตลาด โดยขอเวลาหาคนมาซื้อเป็นเวลา 6 เดือน หากไม่สามารถขายได้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้เป็นเวลา 6 เดือน แต่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถขายบ้านได้ โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 8 ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจำนวน 2,030,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายและไม่มีผู้คัดค้าน จึงอนุมัติให้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ก่อนว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุดหรือไม่ โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์แก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้อีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มาจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายแจ้งวันประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 306 จำเลยที่ 2 มิได้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด หากจำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้ถึงที่สุดดังที่โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์แก้ฎีกาไม่ จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้นชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสี่ บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ (2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณี… และมาตรา 316 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ยึดหรือได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา… ตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือ การจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 316 วรรคหนึ่ง และการจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 318 หากเจ้าพนักงานบังคับคดียังปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วไม่ได้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายณัฐพรเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เนื่องจากยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ดังนี้จึงถือว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จลง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์นี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์เนื่องจากการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนผู้ซื้อทรัพย์และโจทก์ฝ่ายละ 300 บาท