คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันผลิตและมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต และการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ พวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อขาย โดยหลังจากเจ้าพนักงานตรวจค้นและยึดวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 จำนวนหนึ่งได้จากจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันผลิต และมีไว้ในครอบครองที่บ้านเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ยังนำ เจ้าพนักงานไปตรวจค้นและยึดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกจำนวน 80 ถุง บรรจุถุงละ 200 เม็ด จากบริเวณบ้าน จำเลยที่ 1 โดยก่อนวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองร่วมกันผลิต เมทแอมเฟตามีนบรรจุถุงละ 200 เม็ด ได้จำนวน 180 ถุงจำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 150 ถุง ได้จำหน่าย ไปบางส่วนคงเหลือ 80 ถุง ใส่โหลพลาสติกฝังไว้ในสวนมะนาว หลังบ้านจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุงดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมาก่อนที่จำเลยทั้งสอง จะผลิตและมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนจำนวนที่ยึดได้จากบ้านเกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีน ทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นการกระทำคนละเวลาคนละสถานที่และวัตถุแห่งการกระทำความผิด ก็เป็นคนละจำนวนโดยมิได้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองสำหรับการร่วมกัน มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุงไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขาย จึงเป็นการกระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหาก ซึ่งต้องเรียงกระทง ลงโทษตามกฎหมาย ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิต เมทแอมเฟตามีนเพื่อขาย เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษตามมาตรา 89 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท และการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม จำนวนหนึ่ง และ 242 กรัม อีกจำนวนหนึ่ง เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำ ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท แต่ในระหว่างพิจารณา ปรากฏว่ามีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ดังกล่าวข้างต้น และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงมีผลให้การผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสองต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง ระวางโทษประหารชีวิตและการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 35 กรัม จำนวนหนึ่ง และ 242 กรัมอีกจำนวนหนึ่ง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง ต้องรับโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ในกรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก35 กรัม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับ ตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท และต้องรับโทษตาม มาตรา 66 วรรคสอง ในกรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 242 กรัม ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตดังนั้น พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ที่ใช้ในขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิดแตกต่างกับ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด และเมื่อ พระราชบัญญัติวัตถุ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ระวางโทษแก่จำเลยทั้งสองเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงต้องนำ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่ เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 5, 6(7 ทวิ), 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8, 10 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83 ริบของกลางโดยเฉพาะวัตถุออกฤทธิ์เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตวัตถุออกฤทธิ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดคดีนี้และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6543/2538 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ, 116ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่เนื่องจากตามบทกฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดขณะเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 60 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด20 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพชั้นพิจารณา เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณากรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 40 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ริบวัตถุออกฤทธิ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการผลิตวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ยกเว้นโทรศัพท์มือถือของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33คำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 50 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนกรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2538 เวลาประมาณ 23 นาฬิกาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ที่บ้านเลขที่ 17/14 หมู่ที่ 3แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พร้อมของกลางคือเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน1 ถาด น้ำหนักสุทธิ 500 กรัม โดยคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก35 กรัม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตให้เป็นเม็ด ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.14 ลำดับที่ 2 ถึงลำดับที่ 15และผลการตรวจพิสูจน์ของกลางเอกสารหมาย จ.5 รวมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีนเม็ดสีส้มจำนวน 16,000 เม็ด น้ำหนักสุทธิ1,627 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 242 กรัม ได้จากบ้านจำเลยที่ 1 เลขที่ 11/1 หมู่ที่ 3 ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้วจังหวัดสมุทรสาคร ไว้เป็นของกลางด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขายหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว คดีมีเหตุผลให้เชื่อว่าประจักษ์พยานโจทก์เบิกความไปตามความเป็นจริงที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ขณะจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานจับกุมนั้นถูกใส่กุญแจมือและถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้การรับสารภาพจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ไปชี้ตามจุดต่าง ๆ แล้วถ่ายรูปไว้ให้จำเลยที่ 1ลงชื่อที่สถานีตำรวจนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายจนต้องยอมลงลายมือชื่อให้ในเอกสารต่าง ๆ ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ให้เจ้าพนักงานตำรวจด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกคม สุขโขพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการสอบสวนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานครเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่าร่วมกับพวกผลิตและมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและต่อมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านเอกสารหมาย จ.11 และมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นมีเหตุผลเชื่อว่าร้อยตำรวจเอกคมกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่และบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ไว้ตามที่จำเลยที่ 1แจ้งให้ทราบ อันเป็นการแสดงว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นคำให้การที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 1 ข้อความที่ร้อยตำรวจเอกคมเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบเอกสารหมาย จ.11 จึงสนับสนุนข้ออ้างของนายนิยมและร้อยตำรวจเอกเสกสรรค์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1ร่วมกับพวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต และการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมากเป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย ดังนั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำหลายกรรม ซึ่งต้องเรียงกระทงลงโทษหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าหลังจากเจ้าพนักงานตรวจค้นและยึดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2จำนวนหนึ่งได้จากจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองที่บ้านเกิดเหตุในเขตหนองแขม กรุงเทพมหานครแล้ว จำเลยที่ 1 ยังนำเจ้าพนักงานไปตรวจค้นและยึดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกจำนวน 80 ถุง บรรจุถุงละ 200 เม็ดจากบริเวณบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 11/1 หมู่ที่ 3ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนบรรจุถุงละ 200 เม็ดได้จำนวน 180 ถุง จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 จำนวน150 ถุง ได้จำหน่ายไปบางส่วนคงเหลือ 80 ถุง ใส่โหลพลาสติกฝังไว้ในสวนมะนาวหลังบ้านจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุง จำเลยทั้งสองได้มาอย่างไร แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุง ดังกล่าวจำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมาก่อนที่จำเลยทั้งสองจะผลิตและมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนจำนวนที่ยึดได้จากบ้านเกิดเหตุในเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นการกระทำคนละเวลาคนละสถานที่ และวัตถุแห่งการกระทำความผิดก็เป็นคนละจำนวน โดยมิได้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองสำหรับการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุงไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขายจึงเป็นการกระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากซึ่งต้องเรียงกระทงลงโทษตามกฎหมาย
อนึ่ง ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อขาย เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษตามมาตรา 89ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท และการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัมจำนวนหนึ่ง และ 242 กรัม อีกจำนวนหนึ่งเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท แต่ในระหว่างพิจารณาปรากฏว่ามีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ดังกล่าวข้างต้นและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงมีผลให้การผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง ต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคสองระวางโทษประหารชีวิต และการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 35 กรัมจำนวนหนึ่ง และ 242 กรัม อีกจำนวนหนึ่ง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสองต้องรับโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ในกรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท และต้องรับโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง ในกรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 242 กรัม ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ที่ใช้ในขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิดแตกต่างกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด และเมื่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ระวางโทษแก่จำเลยทั้งสองเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 จึงต้องนำพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองความผิดฐานผลิตและมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยมิได้รับอนุญาตน้ำหนักสุทธิ 500 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัมเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2สำหรับจำเลยที่ 1 วางโทษโดยอาศัยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 12 ให้จำคุก 50 ปีส่วนจำเลยที่ 2 วางโทษจำคุก 20 ปี และความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน16,000 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 1,627 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 242 กรัม สำหรับจำเลยที่ 1 วางโทษโดยอาศัยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 12ให้จำคุก 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 วางโทษจำคุก 20 ปี รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 100 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด40 ปี ลดโทษแก่จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม และลดโทษแก่จำเลยที่ 2กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 66 ปี 8 เดือน แต่ลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียง 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) และจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 20 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share