คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นพนักงานของธนาคาร ก.มีหน้าที่รักษากุญแจตู้นิรภัยอันเป็นที่เก็บเงินตราต่างประเทศคนละ 1 ดอก และต้องใช้กุญแจทั้งสองดอกเปิดประตูนิรภัยพร้อมกัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบรหัส การเปิดตู้นิรภัย การที่เงินตราต่างประเทศซึ่งเก็บรักษาไว้ใน ตู้นิรภัยสูญหายไปโดยไม่ปรากฏการงัดแงะย่อมเกิดจากการที่มีผู้ใช้กุญแจเปิดตู้นิรภัยและทราบรหัส เปิดตู้นิรภัยเอา เงินตราไปหรือเกิดจากการเปิดตู้นิรภัยไว้แล้วไม่มีการปิดล็อกดังเดิม นอกจากนี้การเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย ธนาคาร ก.ได้มีระเบียบให้พนักงานธนาคารเก็บรักษากุญแจคนละดอกเพื่อป้องกันการทุจริตของพนักงานและเพื่อให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ซึ่งทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างทราบระเบียบของธนาคารดังกล่าวดี แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมักมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้เปิดตู้นิรภัยโดยละเว้นไม่กระทำร่วมกันโดยเฉพาะในวันศุกร์ก่อนวันหยุดทำการซึ่งเป็นวันเกิดเหตุนั้นเอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ได้เคร่งครัดปฏิบัติ ตามระเบียบของธนาคารในการที่จะรักษาครอบครองกุญแจตู้นิรภัยรวมทั้งการตรวจตราปิดล็อกตู้นิรภัยจึงเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงและเป็นเหตุให้เงินตราที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยสูญหายไป การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันละเมิดต่อธนาคาร ก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นพนักงานบริษัทธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โดยจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าศูนย์บริหารสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินภาคใต้ (ภูเก็ต) และจำเลยที่ 3เป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 100,000 บาท และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 3 ในวงเงิน 80,000 บาท โจทก์รับประกันวินาศภัยความสูญเสียของเงินภายในสถานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน จังหวัดภูเก็ตระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 3ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและบกพร่องอย่างร้ายแรง กล่าวคือจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีหน้าที่ถือกุญแจตู้นิรภัยคนละ 1 ดอกซึ่งจะต้องเปิดหรือปิดตู้นิรภัยพร้อมกันทั้งต้องใช้รหัสอีกชั้นหนึ่ง ปรากฏว่าเงินตราต่างประเทศที่เจ้าหน้าที่ธนาคารรับแลกเปลี่ยนและเก็บไว้ในตู้นิรภัยได้สูญหายทั้งหมดคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 10,056,553.84 บาท โดยห้องมั่นคงซึ่งเก็บตู้นิรภัยและตู้นิรภัยมิได้ถูกงัดแงะ เงินที่สูญหายไปนี้โจทก์ได้รับประกันภัยการสูญหายต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งธนาคารได้รับผิดชอบเบื้องต้นไป 50,000 บาทโจทก์จึงชดใช้เงินให้ธนาคารผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน10,000,553.84 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1และที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 10,465,186.84บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน10,006,55.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาทแทนจำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 4ใช้เงินจำนวน 80,000 บาท แทนจำเลยที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะที่เงินสูญหายมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจหน้าที่ถือกุญแจห้องมั่นคง กุญแจดังกล่าวโดยระเบียบธนาคารเก็บรักษาไว้ที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ถือกุญแจตู้นิรภัยเพียง 1 ดอกไม่อาจเปิดตู้นิรภัยได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,006,553.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที 1 ชำระเงินจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1และที่ 3 เป็นพนักงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ประจำสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินจังหวัดภูเก็ต ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานและผู้ช่วยตามลำดับ มีหน้าที่รักษากุญแจตู้นิรภัยอันเป็นที่เก็บเงินตราต่างประเทศคนละ 1 ดอก และต้องใช้กุญแจทั้งสองดอกเปิดประตูนิรภัยพร้อมกัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบรหัสการเปิดตู้ จำเลยที 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 3 ในวงเงิน 100,000 บาท และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 3 ในวงเงิน 80,000 บาท เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน2536 พบว่าเงินตราต่างประเทศที่เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยได้สูญหายไปคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่พบเหตุเป็นเงิน 10,056,553.81 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้เงินให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นจำนวน10,006,553.81 บาท เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 โดยหักจำนวนเงินที่ธนาคารต้องรับผิดในเบื้องต้นออก 50,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3ได้กระทำการอันทุจริตและบกพร่องอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นการละเมิดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้เอาประกันภัยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เงินตราต่างประเทศซึ่งเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยสูญหายไปโดยไม่ปรากฏการงัดแงะย่อมเกิดจากการที่มีผู้ใช้กุญแจเปิดตู้นิรภัยและทราบรหัสเปิดตู้นิรภัยเอาเงินตราไปหรือเกิดจากการเปิดตู้นิรภัยไว้แล้วไม่มีการปิดล็อกดังเดิม เกี่ยวกับการเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ได้มีระเบียบให้พนักงานธนาคารเก็บรักษากุญแจคนละดอกเพื่อป้องกันการทุจริตของพนักงานและเพื่อให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทั้งจำเลยที่ 1และที่ 3 ต่างทราบระเบียบของธนาคารดังกล่าวดี แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มักมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้เปิดตู้นิรภัยโดยไม่กระทำร่วมกัน โดยเฉพาะในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2536 ก่อนวันหยุดทำการนั้นเองจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ได้เคร่งครัดปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารในการที่จะรักษาครอบครองกุญแจตู้นิรภัย รวมทั้งการตรวจตราปิดเปิดล็อกตู้นิรภัย เป็นการบกพร่องอย่างร้ายแรง ทำให้เงินตราที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยสูญหายไป เป็นการละเมิดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ชดใช้เงินให้ธนาคารผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากธนาคารดังกล่าวเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 นั้น ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 4ยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share