คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3145/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในรัฐบาลมี จ. เป็นอธิบดี และตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 เรื่องระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 32 วรรคสอง บัญญัติว่า กรมมีอธิบดีเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฯลฯ เช่นนี้ต้องถือว่าโจทก์มี จ. อธิบดีคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้แทน จะถือว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนของโจทก์เป็นผู้แทนของโจทก์ด้วยหาได้ไม่ เมื่อ จ. รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2528 นับถึงวันที่18 กุมภาพันธ์ 2529 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีนายจำลอง ศาลิคุปตเป็นอธิบดี จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3546 ระยอง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มุ่งหน้าไปทางอำเภอเมืองชลบุรีจังหวัดชลบุรี อันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1เมื่อมาถึงบริเวณระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 13 บวก 200 ถึง 13 บวก 300ทางหลวงหมายเลข 344 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นทางโค้งและฝนกำลังตก จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทใช้ความเร็วสุงไปตามทางโค้งเป็นเหตุให้รถยนต์ดังกล่าวเสียหลักไปข้างทางด้านซ้าย และชนหลักกันเสาไฟฟ้าจำนวน 2 ต้น เสาไฟฟ้าแสงสว่างชนิดกิ่งเดียวจำนวน 1 ต้น ของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 22,300บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 27,038.75 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน22,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทเพราะมีผู้ขับรถบรรทุกแซงปาดหน้ารถที่จำเลยที่ 2 ขับ จนต้องหักหลบและชนเสาไฟฟ้ากับหลักกันเสาไฟฟ้าค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 10,000 บาท เหตุคดีนี้เกิดตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2526 และโจทก์รู้ถึงตัวผู้จะต้องรับผิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526 โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 18 กุมภาพันธ์2529 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 27,038.75บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน22,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายจำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อกฎหมายว่า ผู้แทนโจทก์ตามกฎหมายมิใช่หมายถึงอธิบดีแต่ผู้เดียว เจ้าหน้าที่ทั้งหลายของโจทก์ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ด้วย คดีนี้เจ้าหน้าที่ของโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2526 นับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในรัฐบาล มีนายจำลองศาลิคุปต เป็นอธิบดี ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ชนหลักกันเสาไฟฟ้าและเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหาย นายจำลองอธิบดีโจทก์ทราบเรื่องราวและตัวผู้จะพึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์เมื่อวันที่18 กุมภาพันธ์ 2528 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 เรื่องระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 32 วรรคสองบัญญัติว่า กรมมีอธิบดีเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฯลฯ เช่นนี้ต้องถือว่าโจทก์มีนายจำลองอธิบดีคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้แทน จะถือว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนของโจทก์เป็นผู้แทนของโจทก์ด้วยหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่านายจำลองอธิบดีโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2528 นับถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share