แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานก่อความวุ่นวายในการกระทำพิธีกรรมตามศาสนาหรือไม่นั้น การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นอิหม่ามและบิหลั่นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งถึงขณะเกิดเหตุ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 ประกาศทางเครื่องขยายเสียงต่อหน้าสัปปุรุษทั้งหลายในมัสยิดโดยใส่ความโจทก์ว่าเป็นอิหม่ามและบิหลั่นเถื่อนได้หลอกลวงสัปปุรุษมานานแล้ว เป็นการทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตาม ป.อ. มาตรา 329 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม มาตรา328.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นอิหม่ามโจทก์ที่ 2 เป็นบิหลั่นมีหน้าที่ปกครองดูแลมัสยิดจำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันก่อให้เกิดความวุ่นวายด้วยการขัดขวางการทำพิธีกรรมทางศาสนาของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังได้พูดทางเครื่องขยายเสียงบนมัสยิดประกาศไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำหน้าที่อิหม่ามและบิหลั่นรวมทั้งได้ใส่ความโจทก์ทั้งสองอันเป็นการหมิ่นประมาทอีกด้วยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 207, 326, 328, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 207, 83, 91 รวม 2 กรรมวางโทษแต่ละกรรมจำคุก 1 เดือนปรับ 500บาทรวมจำคุก 2 เดือนปรับ 1,000 บาทจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 207, 328, 83, 91 ลงโทษตามมาตรา 207 จำคุก1 เดือนปรับ 500 บาทตามมาตรา 328 จำคุก 2 เดือนปรับ 1,000 บาทรวมจำคุก 3 เดือนปรับ 1,500 บาทจำเลยอื่นนอกนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 207, 83 จำคุกคนละ 1 เดือนปรับคนละ 500 บาทโทษจำคุกของจำเลยทุกคนให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 1 ปีไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยทั้งแปดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งแปดฎีกาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อ 1, 2 และ 4 ส่วนข้อ 3 ไม่รับฎีกาเพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งแปดข้อ 1 และข้อ 2 รวมกันว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่โดยจำเลยทั้งแปดฎีกาว่าจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แจ้งชัดแล้วว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ที่ 1 มิได้เป็นอิหม่ามและโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นบิหลั่นที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในพ.ศ.2508 โดยชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 6 ยังเป็นอิหม่ามโดยชอบด้วยกฎหมายและนายอับดุลเลาะห์มาน แสงวิมานยังเป็นบิหลั่นอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกสำหรับปัญหาข้อนี้พยานโจทก์มีนายอารีย์โก๊ะเจริญและโจทก์ที่ 2 เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.5ถึง จ.12 ว่ากระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งเป็นหนังสือตามเอกสารหมายจ.5 ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการจัดทำทะเบียนสัปปุรุษของมัสยิดดาร๊อสอาดะห์ขึ้นใหม่แล้วให้ทำการเลือกตั้งอิหม่าม คอเต็บและบิหลั่นกับกรรมการมัสยิดให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบตามคำสั่งดังกล่าวมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการโดยมีนายหะยีสอิ๊ด สุไลมานเป็นประธานเป็นผู้ทำการเลือกตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวผลการเลือกตั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2508 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นอิหม่ามและบิหลั่นตามลำดับ ปรากฏตามเรื่องราวเอกสารหมาย ข.6 อันเป็นเรื่องราวที่ยื่นต่อทางราชการขอเปลี่ยนแปลงกรรมการมัสยิดซึ่งทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการได้ออกประกาศนียบัตรรับรองตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่อิหม่ามและบิหลั่นตลอดมาและเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารของมัสยิดตามเอกสารหมาย จ.9, จ.10 และกับ จ.11 จดทะเบียนจำเลยที่ 1เป็นคอเต็บตามเอกสารหมาย จ.12 ต่อทางราชการเห็นว่าการเลือกตั้งอิหม่ามและบิหลั่นในพ.ศ.2528 เป็นไปตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยอันชอบด้วยกฎหมายและหลักฐานพยานโจทก์ฟังได้ว่าเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเลือกตั้งแล้วก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดมาไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้านเรื่องนี้แต่อย่างใด… โจทก์ทั้งสองได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามและบิหลั่นตามลำดับโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2508 และดำรงตำแหน่งดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแม้จำเลยจะนำสืบว่าคณะกรรมการมัสยิดที่เกิดเหตุได้มีมติให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2526 ก็ตาม มติดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วคำพิพากษาฎีกา 2เรื่องที่จำเลยดังกล่าวอ้างเป็นฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ฎีกาของจำเลยทั้งแปดสำหรับข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาข้อที่ 4 ของจำเลยมีว่าการที่จำเลยที่ 2 ได้ประกาศทางเครื่องขยายเสียงต่อหน้าสัปปุรุษทั้งหลายกล่าวหาโจทก์ทั้งสองมีข้อความตามฟ้องนั้นเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนและป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือเป็นการกล่าวความจริงซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องพิเคราะห์แล้วจำเลยที่ 2 ประกาศทางเครื่องขยายเสียงต่อหน้าสัปปุรุษทั้งหลายในมัสยิดกล่าวหาโจทก์ทั้งสองว่า ‘เป็นอิหม่ามบิหลั่นเถื่อนหลอกลวงปวงสัปปุรุษให้หลงเชื่อมาเป็นเวลานานแล้วปวงสัปปุรุษทั้งหลายอย่าไปเชื่อ’เห็นว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองดำรงตำแหน่งอิหม่ามและบิหลั่นตามลำดับโดยชอบด้วยกฎหมายดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ประกาศดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยประการที่น่าจะทำให้ปวงสัปปุรุษหลงเชื่อเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ทั้งมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา329 ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างจำเลยที่ 2 จึงต้องมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องกล่าวโดยสรุปแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองฎีกาของจำเลยทั้งแปดฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.