คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 นั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจ่ัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพ จำเลยให้การปฏิเสธชั้นศาลโจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าวให้สมฟ้องจึงจะลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286,91 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8, 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286, 91 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 9ให้จำคุกไว้มีกำหนด 7 ปี ฐานเป็นเจ้าของกิจการจำคุก 6 เดือนรวมโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…สำหรับความผิดตามพระราชบัญญติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 นั้น โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 8, 9 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีตามมาตรา 9 ซึ่งมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีตามมาตรา 8 โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีนี้จึงยุติ คงมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503มาตรา 9 และฐานดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณี นั้น โจทก์คงมีแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 และบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.3 เท่านั้นเป็นพยาน ส่วนถ้อยคำของนางสาวนกชัยบุญเรือง ทั้งในชั้นจับกุมจำเลยตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2และในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 ต่างเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ไม่พอฟังประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและจับกุมซึ่งจำเลยนำสืบอ้างว่าเป็นการรับผิดแทนผู้อื่น พยานหัลักฐานโจทก์จึงไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ส่วนความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดโดยจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพโจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพด้วย เพื่อให้ข้อเท็จจริงฟังได้สมฟ้องจึงจะลงโทษจำเลยได้ คดีนี้โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้ความจากร้อยตำรวจโทอุทิศ ไชยเจริญ ผู้จับกุม พันตำรวจตรีวิเชียร ภักดีโต ผู้สืบสวนและร้อยตำรวจโทสุเกษม ทองดี พนักงานสอบสวน เพียงว่าในขณะที่เข้าทำการจับกุมจำเลยนั้น จำเลยอยู่ในสถานการค้าประเวณีโดยมิได้นำสืบถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งที่สถานที่ทำการจับกุมอยู่ห่างสถานีตำรวจประมาณ 500 เมตร นอกจากนี้นายบุญช่วย ดิษฉกรรณ์ พยานโจทก์อีกหนึ่งปาก ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้บ้านที่เกิดเหตุ ก็เบิกความไม่ยืนยันว่าจำเลยมีอาชีพอะไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามฟ้องไม่ได้ จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และนำสืบว่าได้เข้าไปขายของในที่เกิดเหตุถูกจับกุมโดยมีเพื่อนเรียกให้รับผิดแทน ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพต่อความผิดฐานนี้ทั้งในชั้นสอบสวนและจับกุม แต่โดยเหตุที่ลำพังคำให้การรับสารภาพดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ได้เช่นกัน…’
พิพากษายืน.

Share