คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าเป็นการกระทำนอกหน้าที่ไม่ผิดมาตรานี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นอันยุติได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่คนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับการปล่อยคืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157, 201, 86, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3 (ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา 5),13, 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 8 (ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา 4)
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 86 จำคุก 8 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 โดยมิชอบเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0573กาฬสินธุ์ ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 คดี มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 ไปรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 ภายหลังที่ผู้เสียหายที่ 1 รับรถยนต์คืนแล้วไม่ได้เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำผิดจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานสนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 รับราชการเป็นผู้บังคับหมู่ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์มีอำนาจหน้าที่สืบสวนคดีอาญา เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ออกสืบสวนจับกุมคนร้ายลักกระบือไป 3 ตัวที่หมู่บ้านสร้างแสน ตำบลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอสมเด็จ เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวติดตามพบกระบือ 3 ตัว นั้นและให้ผู้เสียหายที่ 1 นำขึ้นรถยนต์บรรทุกของผู้เสียหายที่ 1ไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสมเด็จ แล้วยึดรถยนต์บรรทุกของผู้เสียหายที่ 1 ไว้ รุ่งขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 เวลาเช้าจำเลยที่ 2 กับพลตำรวจวิโรจน์ไปบ้านผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2บอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปพูดเรื่องรถยนต์ที่ถูกยึดที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสมเด็จ ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจึงไปขอรับรถยนต์คืนจำเลยที่ 2 บอกแก่นายแคน พวกผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปถามผู้เสียหายที่ 1 ว่ามีเงิน 15,000 บาท เพื่อจะเอารถยนต์คืนหรือไม่ผู้เสียหายที่ 1 บอกว่าไม่มีและขอต่อรองเหลือ 10,000 บาท กับขอผัดไปอีก 10 วัน แล้วผู้เสียหายที่ 1 ได้รับรถยนต์คืนไปในวันนั้นต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2525 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยที่ 2พานายแคนไปบ้านผู้เสียหายที่ 1 แล้วรับเงิน 10,000 บาทไปศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 201 เพราะจำเลยที่ 2ไม่ใช่พนักงานสอบสวนและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการคืนหรือไม่คืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 แต่ที่จำเลยที่ 2 ไปเรียกและได้รับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 1 และราชการ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สนับสนุน แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการกระทำผิด ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้นตามฟ้องได้เพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าเป็นการกระทำนอกหน้าที่ไม่ผิดมาตรานี้ ฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนความผิดอาญา ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นพนักงานสอบสวนคดีคนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับสืบสวนและสอบสวนตรวจสอบว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0573 กาฬสินธุ์ ของผู้เสียหายที่ 1 เป็นรถซึ่งคนร้ายใช้กระทำความผิดในการขนกระบือดังกล่าวหรือไม่แล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สืบสวนคดีอาญา ด้วยความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือเรียกเงิน 10,000 บาท จากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการปล่อยคืนรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1ฉะนั้น หน้าที่ในการสืบสวนและสอบสวนชั้นนี้จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะมีหน้าที่ในการสืบสวนด้วยต้องได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือจากจำเลยที่ 1 ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่ในการสืบสวนชั้นนี้ด้วย ทั้งตามฟ้องของโจทก์ก็บรรยายในทำนองว่าจำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือเรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการปล่อยคืนรถยนต์อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยตำแหน่งและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ในการปล่อยคืนรถยนต์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นอันยุติเช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่คนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับการปล่อยคืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share