คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 ได้ขับรถปั้นจั่นในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2เฉี่ยวลังไม้บรรจุสินค้าซึ่งโจทก์ได้รับประกันภัยไว้ในระหว่างการขนส่ง และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองดังนี้ จำเลยที่ 2 จะยกข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือลงวันที่ 21สิงหาคม 2494 ข้อ 53,57 และ 58 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับขนและผู้รับฝากทรัพย์ต่อบุคคลผู้มาใช้บริการของจำเลยที่ 2 โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามและยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวมาอ้างเพื่อปัดความรับผิดที่มีต่อโจทก์มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โจทก์รับประกันภัยสินค้าเครื่องจักรเจาะเซาะโลหะจำนวน 1 ชุดของบริษัทนวโลหะไทย จำกัดในระหว่างการขนส่งจากเมืองฮัมบูรก์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน มายังโรงงานของบริษัทนวโลหะไทย จำกัด ต่อมาขณะที่สินค้าวางอยู่บนลานกลางแจ้งของโรงพักสินค้าของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถปั้นจั่นโดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวชนหีบห่อบรรจุสินค้าเครื่องจักรของผู้เอาประกันภัย เป็นเหตุให้เครื่องจักรภายในหีบห่อได้รับความเสียหายโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทนวโลหะไทย จำกัด แล้วขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 118,813.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยตามฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงแต่ขับรถปั้นจั่นเฉี่ยวผิวกล่องไม้บรรจุสินค้าเป็นเหตุให้เฉพาะเนื้อไม้ของกล่องประมาณ 2-3 แผ่นแตกเท่านั้นมิได้ทำให้เครื่องจักรเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถปั้นจั่นโดยพลการนอกทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ความเสียหายของสินค้ามิได้มีการตรวจตรารู้เห็นจากจำเลยที่ 2 หรือจากวิศวกรหรือช่างผู้เป็นกลาง ผู้รับมอบสินค้าได้รับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 2 โดยไม่อิดเอื้อนและไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ ลงวันที่21 สิงหาคม 2494 ข้อ 53 และ 57 ค่าเสียหายสูงเกินไป จำเลยที่ 2จะรับผิดชอบความเสียหายของสินค้าไม่เกินจำนวนเงิน 5,000 บาท ตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 58 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 118,813.54บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529 เวลา 17.45 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถปั้นจั่นหมายเลข 302 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวลังไม้บรรจุเครื่องจักรเจาะเซาะโลหะของบริษัทนวโลหะไทย จำกัด ที่วางอยู่ในลานกลางแจ้งข้างโรงพักสินค้าหมายเลข 8 ของจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน118,813.54 บาท บริษัทนวโลหะไทย จำกัด เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งจากเมืองฮัมบูรก์ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ถึงโรงงานของบริษัทนวโลหะไทยจำกัด ซึ่งอยู่ที่ตำบลท่าหลวง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรีจึงได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทนวโลหะไทยจำกัด ไปแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2จะยกข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัย การใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2494ข้อ 53, 57 และ 58 ตามเอกสารหมาย ล.7 ขึ้นมาปัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับขนและผู้รับฝากทรัพย์ต่อบุคคลผู้มาใช้บริการของจำเลยที่ 2 ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามและยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 มิได้เกี่ยวกับกิจการงานตามปกติของจำเลยที่ 2บริษัทนวโลหะไทย จำกัด และโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว จำเลยที่ 2 จะยกเอาข้อบังคับข้อ 53, 57และ 58 มาอ้างเพื่อปัดความรับผิดหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share