แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินส่วนที่ขาดจากจำเลยตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน หาได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในทรัพย์ที่ส่งมอบตามสัญญาซื้อขายซึ่งมีอายุความ 1 ปีนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ไม่ และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2517 โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วน มีค่าตอบแทนโฉนดตราจองเลขที่ 3 ระวาง 12 ต/ 19 อ. หน้าสำรวจ 2 ให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของจำเลยจำนวน 1,200 ตารางวา หรือในส่วน2910 เศษ 7 ส่วน 9 ส่วน เจ้าพนักงานได้จดทะเบียนบันทึกข้อตกลงไว้เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2519 ถึงเดือนมกราคม 2524 โจทก์และจำเลยกับบุคคลอื่น ๆ ได้ยื่นคำร้องขอทำการรังวัดแบ่งแยกและแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรังวัดแบ่งแยกเพื่อขอออกโฉนดให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าเมื่อแบ่งแยกแล้ว ได้ออกเป็นโฉนดและมีจำนวนเนื้อที่ดังต่อไปนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 57577 เนื้อที่ 3 งาน 55 เศษ 8 ส่วน 10 ตารางวาที่ดินโฉนดเลขที่ 57578 เนื้อที่ 3 งาน 55 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวารวมจำนวนเนื้อที่ที่โจทก์ได้รับหลังจากแบ่งแยกแล้วจำนวน711 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวาหรือส่วน จำนวนเนื้อที่ตามโฉนดนี้น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้จำนวน488 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวาหรือส่วน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2524โจทก์ได้รับโฉนดจากเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเพิ่งทราบว่าที่ที่โจทก์มีสิทธิได้รับขาดหายไป 488 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวาหรือส่วน จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3 ระวาง 12 ต/19 อ.หน้าสำรวจ 2 อีกจำนวน 488 เศษ 9 ส่วน 10ตารางวา ให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ ก็ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 260,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474เพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันทราบถึงเหตุชำรุดบกพร่อง และต่อสู้ข้ออื่นอีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3 ระวาง 12 ต/19 อ.หน้าสำรวจ 2 ตำบลแสมดำ อำเภอหรือเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครจำนวน 488 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 260,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อจำเลยตกลงให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับจำเลยเป็นจำนวนเนื้อที่ 1,200 ตารางวา ต่อมาได้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นส่วนของโจทก์ ปรากฎว่าเนื้อที่ดินตามโฉนดที่ออกให้โจทก์ขาดไปจำนวนดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในส่วนที่ขาดจำนวนนั้นได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้าย ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินส่วนที่ขาดจากจำเลยตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน หาได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในทรัพย์ที่ส่งมอบตามสัญญาซื้อขายซึ่งมีอายุความ 1 ปีนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ไม่ และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน10 ปี ดังนั้นฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 467 ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาส่งมอบนั้น จำเลยมิได้ต่อสู้ในข้อนี้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นดุจกัน”
พิพากษายืน