แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อกฎหมายที่ว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความต่างกับฟ้องหรือไม่ถ้าไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวชั้นอุทธรณ์ จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้
ปัญหาที่ว่าควรอนุญาตให้แก้ฟ้องเรื่องสถานที่เกิดเหตุหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ฟ้องจำเลยสองคนว่าสมคบกันทำผิดโดยคนที่ 1 มีไม้อีกคนหนึ่งมีมีดแต่ทางพิจารณาได้ความว่าคนที่ 1มีมีด อีกคนหนึ่งมีไม้ ดังนี้ ลงโทษได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านายนิแวมีไม้ นายแจ๊ะอาลีมีมีดสมคบกันใช้มีดและไม้เงื้อง่าขู่เข็ญชิงทรัพย์นางยกไถ่ไป 107 บาท ขอให้ลงโทษ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 299 จำคุกคนละ 3 ปี
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีไม้จำเลยที่ 2 มีมีด แต่ทางพิจารณาตามคำเจ้าทรัพย์ว่าจำเลยที่ 1 มีมีด จำเลยที่ 2 มีไม้ ซึ่งต่างกับฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ หากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผลของข้อเท็จจริงก็ฟังได้อยู่ว่าจำเลยทั้งสองมีมีดและไม้ไปกระทำผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั่นเอง ส่วนข้อที่ฎีกาว่า ไม่ควรอนุญาตให้แก้ฟ้อง (เรื่องสถานที่เกิดเหตุ) ก็เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงให้ยกฎีกา