คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความที่ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยนี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย เมื่อปรากฏขึ้นจากการที่คู่ความแถลงรับกันในขณะที่ศาลสอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเช่นนี้ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้จำเลยจะมิได้ให้การไปถึงว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยก็ตาม
จำเลยจ้างเหมาให้โจทก์ที่ 1 หาคนงานมาทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลเป็นลำ ๆ ไป โจทก์ที่ 2 ถึงที่11 เป็นคนงานของโจทก์ที่ 1 ในเดือนหนึ่ง ๆ โจทก์จะได้งานขนถ่ายสินค้า 1 ถึง 3 ลำ ลำหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาขนถ่ายอย่างมาก 7 วัน จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ตามน้ำหนักของสินค้า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเงินก้อนไปจ่ายให้แก่โจทก์อื่น ๆ ดังนี้จำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ที่1 ในลักษณะของการจ้างทำของ
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากที่ใดว่าโจทก์ได้ทำงานให้จำเลยเกินกว่า 120 วันติดต่อกัน คงได้ความแต่เพียงว่า โจทก์ทำงานขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลให้จำเลยเดือนละ 1 ลำ อย่างมาก 3 ลำ ลำหนึ่ง ๆ ใช้เวลาอย่างมาก 7 วันเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 75

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 11 คนเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่มีกำหนดเวลาจ้างที่แน่นอน มีงานก็จ้างให้มาทำ ไม่มีก็ไม่ได้จ้างการจ่ายเงินค่าแรงก็จ่ายเป็นครั้งคราวตามงานที่ตกลงว่าจ้างเท่านั้น ไม่ได้จ่ายเป็นรายเดือน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นไม่เป็นความจริง เหตุที่จำเลยมิได้จ้างโจทก์ให้มาทำงานก็เพราะจำเลยไม่มีงานที่จะว่าจ้างโจทก์ ซึ่งจำเลยได้ตกลงกับพวกโจทก์ว่า ถ้าจำเลยรับงานมาได้เมื่อใดจะเรียกพวกโจทก์ให้มาทำทันที โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้จ่ายสินจ้างให้โจทก์ที่ 1 เป็นการเหมาในการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลเป็นลำ ๆ ไป เป็นการจ่ายสินจ้างตามผลสำเร็จของงาน มิได้คำนึงถึงระยะเวลาที่ให้ทำงาน จึงมีลักษณะเป็นการจ้างทำของ มิใช่การจ้างแรงงานอันจะถือได้ว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นบุคคลที่โจทก์ที่ 1 ตกลงว่าจ้างให้มาทำงานเป็นครั้งคราว โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 11ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย โจทก์ทุกคนไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้ง 11 คนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 11 เท่านั้นที่ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ความที่ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย เมื่อปรากฏขึ้นจากการที่คู่ความแถลงรับกันในขณะที่ศาลสอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเช่นนี้ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้จำเลยจะมิได้ให้การไปถึงว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 11ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยก็ตาม

การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 1ในลักษณะของการจ้างทำของ โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า จำเลยจ้างเหมาให้โจทก์ที่ 1 หาคนงานมาทำงานขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลเป็นลำ ๆ ไปโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นคนงานของโจทก์ที่ 1 ในเดือนหนึ่ง ๆ โจทก์จะได้งานขนถ่ายสินค้า 1 ถึง 3 ลำ ลำหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาขนถ่ายอย่างมาก 7 วัน จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ตามน้ำหนักของสินค้า โจทก์ที่ 1เป็นผู้รับเงินก้อนไปจ่ายให้แก่โจทก์อื่น ๆ นั้น จึงเป็นการชอบแล้ว

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 75นั้น ลูกจ้างชั่วคราวจะมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำก็ต่อเมื่อได้ทำงานติดต่อกันเกิน 120 วัน เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากที่ใดว่าโจทก์ได้ทำงานให้จำเลยเกินกว่า 120 วันติดต่อกัน คงได้ความแต่เพียงว่า โจทก์ทำงานขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลให้จำเลยเดือนละ 1 ลำ อย่างมาก 3 ลำ ลำหนึ่ง ๆ ใช้เวลาอย่างมาก 7 วันเท่านั้น ดังนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตามประกาศฯ ข้อ 75

พิพากษายืน

Share