แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 แล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแต่เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับสิ้นไป กรณีดังกล่าวก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้เงินยืมโจทก์ 63,300 บาท โดยชำระวันทำสัญญา 15,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระทุกวันที่ 3 ของเดือนเดือนละ 2,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 3 มีนาคม 2527 เป็นต้นไปทั้งนี้มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียงงวดเดียวคือวันที่ 3 เมษายน 2527 จำนวน 2,500 บาทจากนั้นก็ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 คงค้างชำระเงินโจทก์ 45,800 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้อง เพราะจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงสามารถยกข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามกฎหมายว่าด้วยการค้ำประกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์และจำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 (ลูกหนี้)เป็นหนี้เงินกู้โจทก์ (เจ้าหนี้) 63,300 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวเป็นงวด ๆ แก่โจทก์จนกว่าจะครบจำนวนหนี้เงินกู้งวดแรกชำระให้แล้วในวันทำสัญญา 15,000 บาท งวดต่อ ๆ ไปจะชำระทุกวันที่ 3 ของทุก ๆ เดือน เดือนละ 2,500 บาท โดยเริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม เป็นต้นไป และทุก ๆ 6 เดือน จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ครั้งละ 10,000 บาท ด้วย หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าหนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระในทันที และจำเลยที่ 1ยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ลงชื่อ รัดฐยา ศรีจันทร์ (จำเลยที่ 1) ลูกหนี้ ลงชื่อบรรลือ กิจกำธร (โจทก์) เจ้าหนี้ ลงชื่อ (อ่านไม่ออก) พยานลงชื่อ พูลสุข ศรีจันทร์ (จำเลยที่ 2) พยาน ลงชื่อพูลสุข ศรีจันทร์ (จำเลยที่ 2) ผู้ค้ำประกัน ประเด็นวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยานไปแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้ว่า มิใช่ประสงค์จะเป็นพยานในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตกลงจะค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย โดยแสดงฐานะด้วยคำว่า “ผู้ค้ำประกัน”ต่อจากลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ลงไว้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่าศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 แล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1ยังไม่ระงับสิ้นไปและไม่ได้ความว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงด้วย หรือโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 2 ขอชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698, 700 และ 701 บัญญัติไว้ฉะนั้นแม้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม กรณีดังกล่าวนี้มิได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน”
พิพากษายืน