คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกัน การที่จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษา ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร และไม่มีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงโดยโจทก์ไม่มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้
ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ตามป.พ.พ. มาตรา 446

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าจำเลยที่ 1 เป็นกระทรวง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของรัฐบาลและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 โรงพยาบาลพนมสารคาม เป็นสถานพยาบาลซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการและรักษาผู้เจ็บป่วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2541 โจทก์ตั้งครรภ์ มีอาการเจ็บท้องคลอด จึงเข้าทำการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคาร แพทย์ประจำโรงพยาบาลให้โจทก์รับประทานยาเพื่อปิดปากมดลูก ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตามผิวหนังทั่วร่างกายและภายในดวงตาแต่อาการโจทก์เนื่องจากเจ็บท้องคลอดดีขึ้น แพทย์จึงให้โจทก์กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ต่อมาโจทก์เกิดอาการป่วยอย่างเดิม ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพนมสารคามอีกครั้งจำเลยที่ 3 ตรวจอาการป่วยเจ็บของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อมิได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ก่อน และเมื่อจะให้ยาเพื่อบำบัดรักษา ก็มิได้ตรวจสอบก่อนว่ายาดังกล่าวทำให้โจทก์มีอาการแพ้ยาหรือไม่ อันเป็นเหตุให้เมื่อจำเลยที่ 3 ให้ยาบำบัดแก่โจทก์ โจทก์เกิดอาการแพ้ยา มีอาการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา จำเลยที่ 3 ก็มิได้หยุดให้ยาดังกล่าว ทำให้อาการของโจทก์ทวีขึ้น เกิดพุพองตามผิวหนังของร่างกายและเน่าเฟะ ที่นัยน์ตาของโจทก์เกิดอาการพร่ามัวทำให้โจทก์ขาดสมรรถภาพในการมองเห็น ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลากว่า 3 เดือน โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้ 1,000,000 บาท และจากการสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นของดวงตากลายเป็นคนพิการ ขอคิดค่าเสียหาย 2,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ต้องสูญเสียความสวย เนื่องจากผิวพรรณโจทก์มีร่องรอยบาดแผลคิดเป็นค่าเสียหาย 2,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 5,000,000 บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โรงพยาบาลพนมสารคารและแพทย์ประจำโรงพยาบาลพนมสารคามไม่ได้เป็นส่วนราชการและไม่ได้เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 3 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งกระทำในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อในการรักษาอาการป่วยเจ็บของโจทก์ ขณะโจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามเนื่องจากเจ็บครรภ์จะคลอดก่อนกำหนด จำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการรักษาโจทก์ตามวิสัยและพฤติการณ์ที่แพทย์ทั่วไปจะพึงปฏิบัติแล้ว ก่อนรักษาได้ให้เจ้าหน้าที่ซักถามและตรวจสอบประวัติของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยมีอาการแพ้ยาหรือเคยผ่าตัดมาก่อนหรือมีโรคประจำตัว และก่อนพ้นจากหน้าที่แพทย์เวร จำเลยที่ 3 ตรวจสอบอาการของโจทก์อีกครั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการแพ้ยา ต่อมาเมื่อพบว่าโจทก์มีผื่นแดงที่ขา โดยสงสัยว่าจะเกิดจากการแพ้ยา พยาบาลเวรจึงหยุดให้ยาแก่โจทก์ทันทีพร้อมทั้งรายงานให้แพทย์เวรทราบ แพทย์เวรได้สั่งการรักษาอาการดังกล่าวทันที ก่อนให้การรักษาแก่โจทก์ โจทก์ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 3 ทำการรักษาโดยยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นสูงเกินสมควร ผื่นที่เกิดขึ้นจากการแพ้ยาเมื่ออาการดีขึ้นจะลอกตกสะเก็ตไม่เกิดแผลเป็น ส่วนดวงตาของโจทก์พิการเพียงข้างเดียว ทำให้เสียประสิทธิภาพในการทำงานเพียงร้อยละ 25 สามารถผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาดำได้ ความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กันยายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมสารคารสังกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่บริหารงานของโรงพยาบาลและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแพทย์ตรวจรักษาคนไข้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 เวลา 10 นาฬิกา โจทก์ซึ่งตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน มีอาการเจ็บท้องได้มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคาม แพทย์ให้การรักษาโจทก์โดยให้ยากันมดลูกหดตัวและยานอนหลับหรือยากันชัก ได้แก่ยาบริคานิลและฟีโนบาร์บโจทก์นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าวจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2541 เวลา 9 นาฬิกา ก็ออกจากโรงพยาบาล แต่ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 22 นาฬิกา โจทก์มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคารอีกครั้ง เนื่องจากโจทก์หกล้มท้องกระแทกกับต้นไม้ แพทย์ให้การรักษาโจทก์โดยยังคงให้ยาบริคานิลและฟีโนบาร์บ กับเพิ่มยาโนสปาแก้ปวดท้อง โจทก์นอนรักษาตัวโรงพยาบาลจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2541 ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2541 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา โจทก์มารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามอีกครั้ง ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์เวรผู้ให้การรักษา และในวันเดียวกันเวลาบ่ายโจทก์ขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทราโดยโจทก์มีอาการแพ้ยา มีแผลพุพองที่ใบหน้า ปาก ตาทั้งสองข้าง กับตามร่างกายทั่วไป และกระจกตาข้างซ้ายทะลุ ทำให้เกิดอาการพร่ามัว ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ตามภาพถ่ายหมาย จ.2
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อนว่า จำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามก็ตาม แต่ก็ได้สอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนทำการรักษา และได้ให้ยาบริคานิลซึ่งเป็นยาที่โจทก์เคยได้รับมาแล้วจากการรักษาของแพทย์อื่น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ความเสียหายของโจทก์จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการตรวจรักษาของจำเลยที่ 3 ทั้งโจทก์ปกปิดไม่แจ้งเรื่องการแพ้ยาแก่แพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลพนมสารคาม นับว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เห็นว่า การตรวจและวินิจฉัยโรคของแพทย์โดยเฉพาะการตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกันเมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใดถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน อาการแพ้ยาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ปกปิดไม่แจ้งเรื่องการแพ้ยาให้ทราบนั้นข้อนี้โจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากพยาบาลฉีดยาให้แก่โจทก์แล้วโจทก์มีอาการชักและเกร็งทั้งตัว จึงบอกพยาบาลว่าเข้าใจว่าจะแพ้ยาดังกล่าว เจ็บทนไม่ไหว ขอให้ชักสายน้ำเกลือออกแต่พยาบาลไม่ยอมแสดงว่าโจทก์ว่าจะเพิ่งทราบว่าตนเองแพ้ยาเพราะตามประวัติการรักษาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยแพ้ยามาก่อน จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ปกปิดไม่แจ้งเรื่องการแพ้ยาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 แล้วว่า หากโจทก์ได้รับอันตรายอันเนื่องจากการรักษา โจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องแก่เจ้าหน้าที่และส่วนราชการเจ้าสังกัดของโรงพยาบาลพนมสารคามตามคำยินยอมให้ทำการรักษาเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาดังกล่าวแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ก็ตาม แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจกท์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด เห็นว่า ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าเสียความสวยงามของโจทก์ดังที่คู่ความฎีกามานั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของนายวัฒนาอารีย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา พยานจำเลยว่าอาการแพ้ยาของโจทก์อาจจึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ทั้งนายสุรชัยแพทย์ประจำโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา พยานจำเลยก็เบิกความยืนยันว่า กระจกตาดำข้างซ้ายของโจทก์เป็นเป็นแผลเปื่อยอักเสบบางลง อาจเป็นสาเหตุให้กระจกตาทะลุ ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด ต้องเปลี่ยนกระจกตาดำและจะกลับมามองเห็นได้ ส่วนจะกลับเป็นปกติหรือไม่นั้นอยู่กับผลการผ่าตัด ซึ่งข้อนี้นายวิรัชแพทย์ประจำโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทราพยานโจทก์เองกลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ดวงตาของโจทก์สามารถผ่าตัดเปลี่ยนแก้วตาจะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนตามปกติประกอบกับขณะเกิดเหตุโจทก์ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการรักษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,000,000 บาท มานั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ

Share