คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ลงชื่อไว้สองแห่งคือในช่องหน้าคำว่า พยาน และหน้าคำว่าผู้ค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาลงชื่อทั้งในฐานะเป็นพยานและในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยแสดงฐานะด้วยคำว่าผู้ค้ำประกันต่อจากลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 การที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 2จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมชำระหนี้เงินยืมโจทก์ 63,300 บาท โดยชำระวันทำสัญญา 15,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระทุกวันที่ 3 ของเดือน เดือนละ 2,500 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียงงวดเดียวคงค้างชำระเงินโจทก์ 45,800 บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 52,956 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้อง เพราะจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะเป็นพยาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ค้ำประกันทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิใช่หลักฐานแห่งการค้ำประกัน นอกจากนี้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงสามารถยกข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามกฎหมายว่าด้วยการค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องเข้าผูกพันตนต่อโจทก์แม้จำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อไว้ โดยกำหนดว่าจำเลยที่ 2 ลงในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2มิได้เป็นผู้ค้ำประกัน ประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความมีบุคคลต้องรับผิดต่อกันโดยตรงเพียง 3 คน คือ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงมีแต่ข้อความต่อท้ายลายมือชื่อจำเลยที่ 2 เพียงว่า ผู้ค้ำประกันก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์เจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์แล้ว แม้โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ตาม หาได้มีผลถึงกับจะทำให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใดไม่ พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้จำนวน 45,800 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ประเด็นวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยานไปแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้ว่า มิใช่ประสงค์จะเป็นพยานในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตกลงจะค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย โดยแสดงฐานะด้วยคำว่า “ผู้ค้ำประกัน”ต่อจากลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ลงไว้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1… ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 แล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่เห็นว่า เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับสิ้นไปและไม่ได้ความว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงด้วย หรือโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 2 ขอชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698, 700และ 701 บัญญัติไว้ ฉะนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1แล้วเพราะโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม กรณีดังกล่าวนี้มิได้ทำให้จำเลยที่ 1หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน…”
พิพากษายืน.

Share