แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มีผู้ลักโฉนดที่ดินเขาไป เจ้าของจึงไปแจ้งอายัดไว้ แต่เจ้าพนักงานที่ดินผู้ได้รับคำสั่งอายัดมาดำเนินการต่อไปนั้นลืมเอาไปให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชีอายัดไว้จึงได้มีการขายฝากที่ดินนั้นแก่ผู้อ่นไปเจ้าของเดิมจึงฟ้องขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรม เจ้าพนักงานที่ดินก็รัองต่อศาลขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสัญญาขายฝากเสียตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉะบับที่ 2 มาตรา 7 จนศาลมีคำสั่งและพิพากษาให้เพิกถอน ดังนี้ เจ้าพนักงานที่ดินผู้รับคำสั่งอายัดแล้ว บกพร่องประมาทเลินเล่อลืมลงบัญชีอายัดนั้น ต้องรับผิดใช่ค่าเสียหายแก่ผู้รับซื้อฝาก และกรมที่ดินก็ต้องรับผิดร่วมด้วยตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 76
ย่อยาว
คดีนี้ได้ความว่า นายทองตันได้ลักเอาโฉนดของนายสนิทและนางอาภา ไปโอนขายให้นายบุญชูโดยไม่มีสิทธิจะขาย นางอาภาเจ้าของโฉนดจึงร้องขออายัดที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานทีดินเจ้าพนักงานรับคำร้องแล้ว ลืมลงบัญชีอายัด นายบุญชูได้ไปทำการขายฝากที่ดินรายนี้ให้นางหรั่ง โจทก์ในคดีนี้ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานที่ดินก็ทำนิติกรรมให้นายสนิทและนางอาภาจึงได้ฟ้องนายทองตัน นายบุญชูและนางหรั่งต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรม ๒ รายดังกล่าว ก่อนที่ศาลแพ่งเริ่มทำการสืบพยานจำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือขอให้สั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสัญญาขายฝากระห่วางนายบุญชูกับนางหรั่งเสีย ตามมาตรา ๗ ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉะบับที่ ๒ โดยอ้างว่า การจดทะเบียนได้กระทำไปโดยเจ้าพนักงานที่ดินผิดหลง ศาลแขวงพระนครเหนือไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสัญญาขายฝากเสียส่วนคดีที่นายสนิทนางอาภาฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้น ในที่สุดศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรม ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม
นายหรั่งผู้ถูกสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อฝาก จึงเป็นโจทก์นำคดีมาฟ้อง โดยกล่าวหาว่าจำเลยในคดีนี้ ทำนิติกรรมขายฝากให้โดยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นางหรั่งเสียหาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๔ มีหน้าที่รับคำสั่งอายัดจัดการส่งให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชี คราวนี้จำเลยที่ ๔ รับคำสั่งอายัดแล้ว นำไปให้เจ้าหน้าที่ที่ลงบัญชีไม่ทัน เพราะเลย ๑๖.๐๐ น.แล้ว จำเลยที่ ๔ จึงเก็บใส่ไว้ในลิ้นชัก แล้วลืมเรื่องเสีย ๒ วัน จนกระทั่งทำนิติกรรมขายฝากแล้ว จึงนึกเรื่องได้ ดังนี้ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อและจำเลยที่ ๑ อยู่ในฐานะเป็นนายจ้าง จึงต้องร่วมรับผิดด้วย สำหรับจำเลยที่ ๒ เป็นแต่ผู้สั่งรับอายัดที่ดิน ไม่ได้รู้เห็นในการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากด้วย จำเลยที่ ๓ ได้รับจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่อายัดหมายเหตุมาในโฉนดว่า ไม่มีอายัด จำเลยที่ ๒ – ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฯลฯ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ – ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๔ ผู้เดียวใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า การที่จำเลยที่ ๔ ได้รับคำสั่งอายัดมาเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เมื่อการปฏิบัติตามหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ กระทำไปโดยบกพร่องเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายก็เรียกได้ว่าจำเลยที่ ๔ ทำละเมิดในห้าที่การงาน ซึ่งจำเลยที่๑ จะต้องรับผิดร่วมด้วยตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๗๖ จริงอยู่แม้กรมที่ดินได้ออกคำสั่งวางระเบียบปฏิบัติไว้ว่า เจ้าหน้าที่ที่รับคำสั่งอายัดจะต้องส่งเรื่องไปให้แผนกจดทะเบียนเป็นเรื่องด่วน และจำเลยที่ ๔ มิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว รูปคดีก็ต้องถือว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ อยู่นั่นเองจำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิด
จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ รับผิดร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๖,๘๓๗ ฯลฯ