คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยประกอบธุรกิจฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์โดยเก็บค่าดูจากผู้ชม โดยปกติในวันทำงานจะมีเวลาทำงานระหว่าง8.00 น.ถึง 17.00 น.พักกินอาหารกลางวันระหว่าง 12.00 น. ถึง13.00 น.การที่มีผู้เข้าชมกิจการของจำเลยในวันเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมากขึ้นกว่าวันปกติธรรมดา ถือไม่ได้ว่าเป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ จำเลยจึงจะสั่งให้พนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามจุดที่กำหนดให้ในเวลาหยุดพักกลางวันไม่ได้และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยออกคำสั่งเช่นนั้นโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้วการที่โจทก์ยอมรับข้าวห่อกินในเวลาหยุดพักกลางวันจะถือว่าโจทก์ยินยอมไม่ได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าเป็นงานที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปหรือไม่คำสั่งของจำเลยไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 วรรคท้ายไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยคำสั่งดังกล่าว จึงต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยแผนกเลี้ยงสัตว์จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย

จำเลยให้การว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่และเคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ในวันที่11 กุมภาพันธ์ 2529 เวลา 12.00 น. ถึง 12.30 น. โจทก์จงใจทำผิดอีกโดยละทิ้งหน้าที่หลบไปหลับนอน จำเลยตั้งกรรมการขึ้นสอบสวน โจทก์ทราบจึงละทิ้งงานไปแล้วไม่กลับเข้าทำงานอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยประกอบธุรกิจฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ โดยเก็บค่าดูจากผู้เข้าชม โดยปกติในวันทำงานจะมีเวลาทำงานระหว่าง8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา พักกินอาหารกลางวันระหว่าง 12.00 นาฬิกา ถึง13.00 นาฬิกา ในเทศกาลตรุษจีนมีผู้เข้าชมกิจการของจำเลยเป็นจำนวนมาก จำเลยจึงมีคำสั่งให้พนักงานทุกคนอยู่ปฏิบัติหน้าี่ตามจุดที่กำหนดให้ในเวลาหยุดพักกลางวันโดยแจกข้าวห่อให้กินในจุดที่ปฏิบัติงาน ซึ่งในวันทำงานปกติจะไม่มีการแจกข้าวห่อเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529 เวลา 12 นาฬิกาเศษ โจทก์ไปนอนพักอยู่ระเบียงที่พักคนงานซึ่งอยู่ห่างจากที่โจทก์ปฏิบัติงานประมาณ 40 – 50 เมตร จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เห็นว่า การที่มีผู้เข้าชมกิจการของจำเลยในวันเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมากนี้แม้จะเป็นกรณีพิเศษกว่าในวันปกติธรรมดาก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ ตามความหมายของข้อยกเว้นแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยออกคำสั่งโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว การที่โจทก์ยอมรับข้าวห่อกินในเวลาหยุดพักกลางวันจะถือว่าโจทก์ยินยอมหาได้ไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเป็นกรณีที่ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปหรือไม่ คำสั่งของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 วรรคท้าย จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยอาศัยคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share