คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13972/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ทั้งสองแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจนครบจำนวนให้เสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ที่ 2 ภายหลังจากเลิกสัญญาจำนวน 79,194.50 บาท เพื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงที่โจทก์ที่ 2 ให้ไว้แก่จำเลยแต่เดิมได้เพราะเป็นสิทธิโดยชอบและโจทก์ที่ 2 ยังค้างชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน จำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ระหว่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้ด้วย การหักเงินของจำเลยจึงเป็นไปโดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 79,194.50 บาท คืนจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 223,156.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 207,666.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองห้ามจำเลยคิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับหรือดอกเบี้ยผิดนัดจากต้นเงิน 771,226.61 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไป หรือกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่ำตามที่ศาลเห็นสมควรจะอนุญาตให้จำเลยคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองได้
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 48,963.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 128,158.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 12 มกราคม2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 3,452.50 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกานี้ฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นพนักงานของจำเลย วันที่ 8 ตุลาคม 2536 โจทก์ทั้งสองทำสัญญากู้เงินสวัสดิการพนักงานจากจำเลย 1,560,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 8,800 บาท รวม 174 เดือน และหักโบนัสชำระหนี้เพิ่มอีกงวดละ 50 เปอร์เซ็นต์ของโบนัสที่ได้รับในแต่ละงวด โจทก์ทั้งสองจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 73275 ตำบลบางรักพัฒนา (บางไผ่) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองเป็นประกันหนี้และจำเลยอนุมัติให้โจทก์ที่ 1 มีวงเงินบัตรเครดิต 100,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 มีวงเงินบัตรวีซ่า 30,000 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลย แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงเป็นพนักงานของจำเลยอยู่ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองมียอดหนี้เงินกู้คงเหลือ 1,334,111.39 บาท และเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นการหักบัญชีเงินเดือนของโจทก์ที่ 2 เพื่อชำระหนี้เดือนละ 10,000 บาท หักโบนัสชำระหนี้เพิ่มอีกงวดละ 50 เปอร์เซ็นต์ ของโบนัสที่ได้รับในแต่ละงวด และคิดดอกเบี้ยภายในวงเงิน 500,000 บาทอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ภายในวงเงิน 700,000 บาท อัตราร้อยละ 7 ต่อปี ส่วนที่เกินวงเงิน 700,000 บาท อัตราร้อยละ 8 ต่อปี ต่อมาต้นปี 2548 โจทก์ทั้งสองถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นของศาลจังหวัดนนทบุรีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ทั้งสอง หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นต่อศาลจังหวัดนนทบุรี โดยคำนวณยอดหนี้เงินกู้ที่โจทก์ทั้งสองค้างชำระจนถึงวันที่ 29 มกราคม 2549 เป็นเงิน 645,144.94 บาท ยอดหนี้การใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ทั้งสองค้างชำระถึงวันที่ 11 กันยายน 2549 เป็นเงิน 74,343.80 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 719,488.74 บาท ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองตามคำร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ และเมื่อระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2550 จำเลยหักบัญชีเงินเดือนและโบนัสของโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้เงินกู้ตลอดมา กับหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตของโจทก์ทั้งสอง รวมเป็นเงินที่หักชำระไว้ทั้งสิ้น 252,666.86 บาท แต่จำเลยคืนเงินเดือนและโบนัสที่หักชำระไว้บางส่วนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 45,000 บาท แล้วคงเหลือเงินที่หักชำระไว้ 207,666.86 บาท ตามตารางสรุปการหักบัญชีเงินเดือนและโบนัสชำระหนี้ ใบเสร็จรับเงิน กับหนังสือเรื่องการชำระหนี้บัตรเครดิตและตารางสรุปการคืนเงินเข้าบัญชีเงินเดือน ซึ่งปรากฏว่าจำเลยหักบัญชีเงินเดือนและโบนัสของโจทก์ที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม2549 ชำระหนี้เงินกู้รวม 12 ครั้ง เป็นเงิน 79,194.50 บาท สำหรับในส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 48,963.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนเงินจำนวนดังกล่าวจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนและเงินโบนัสจำนวน 79,194.50 บาท ของโจทก์ที่ 2 เพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ทั้งสองแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจนครบจำนวนให้เสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ที่ 2 ภายหลังจากเลิกสัญญาจำนวน 79,194.50 บาท เพื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงที่โจทก์ที่ 2 ให้ไว้แก่จำเลยแต่เดิมได้เพราะเป็นสิทธิโดยชอบและโจทก์ที่ 2 ยังค้างชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน จำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ได้ด้วย การหักเงินของจำเลยจึงเป็นไปโดยสุจริต ไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 79,194.50 บาท คืนจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share