แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนด โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท เนื้อที่ 81ตารางวา กระทรวงคมนาคมกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 1,500 บาท โจทก์ไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์เพราะไม่เป็นธรรม โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนที่ดินในราคาซื้อขายในท้องตลาดตารางวาละ 25,000 ถึง 30,000 บาท แต่โจทก์ขอเรียกร้องตารางวาละ 20,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,885,625 บาท เมื่อปรากฏว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน พ.ศ. 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7 และมาตรา 9 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้ดำเนินการขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มตามขั้นตอนของมาตรา 25และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นการฟ้องขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสองและวรรคสี่ กำหนดให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่บุคคลตามมาตรา 18 โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ตามมาตรา 25 ให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาได้ และมาตรา 26 ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่เพียงกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนเท่านั้น หน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวในการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนจึงมิใช่ดุลพินิจโดยเด็ดขาดของคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีหรือศาลซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์หรือฟ้องของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนแล้วแต่กรณีย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนค่าทดแทนของคณะกรรมการฯ ชอบและเป็นธรรมตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22และมาตรา 24 หรือไม่ หากไม่ชอบหรือไม่เป็นธรรมแล้วก็ย่อมอำนาจเปลี่ยนแปลงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ชอบและเป็นธรรมตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 โดยกำหนดให้ผู้ที่ถูกเวนคืนได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากค่าทดแทนที่น้อยกว่าราคาที่เป็นธรรมได้
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของจำเลยเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมายหรือไม่ โดยไม่ได้กำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากค่าทดแทนที่กำหนดหรือไม่ และโจทก์มิได้โต้แย้ง แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า ถ้าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินไม่ถูกต้องจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีกจำนวนเท่าใดด้วย ฉะนั้นจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากค่าทดแทนที่กำหนดหรือไม่ด้วย
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21บัญญัติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการปรองดองพิจารณาค่าทดแทนได้กำหนดราคาที่ดินของโจทก์ โดยถือตามราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้อยู่ในขณะที่ประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯเป็นหลัก แล้วนำราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปีหลังพระราชกฤษฎีกาฯ บังคับใช้มาเฉลี่ยหาราคาในวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฯ มาเฉลี่ย จึงไม่ถูกตามที่มาตรา 21อนุมาตรา (1) ถึง (5) กำหนด และข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ต้องถือเอาตามราคาซื้อขายในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ เมื่อพิจารณาสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ประกอบกันด้วยแล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ฎีกาคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวข้างต้นโดยมิได้โต้แย้งว่าราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นราคาที่เป็นธรรมแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 117998 เนื้อที่ 81 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อเดือนกันยายน 2532 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศเขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิวเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343สายคลองตัน – ลาดกระบัง พ.ศ. 2532 โดยให้จำเลยเป็นผู้กำหนดการชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงอยู่ในเขตที่ต้องเวนคืน จำเลยได้ชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์ โดยการกำหนดราคาโดยถือตามราคาที่ดินในปี 2522 อันเป็นปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่าพ.ศ. 2522 ใช้บังคับ ย่อมไม่เป็นธรรม โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนที่ดินในราคาที่เป็นธรรมโดยถือตามราคาซื้อขายในท้องตลาดคือตารางวาละ 25,000 ถึง 30,000 บาท แต่โจทก์ขอเรียกร้องเพียงราคาตารางวาละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 ปี 5 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน1,387,125 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,007,125 บาท ซึ่งเมื่อหักเงินที่โจทก์ได้รับไปแล้วจำนวน 121,500 บาท ออก คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์เป็นค่าทดแทนทั้งสิ้น2,885,625 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทน 2,885,625 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,620,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นรวมทั้งไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยด้วยที่โจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในปี 2533 ราคาตารางวาละ 25,000ถึง 30,000 บาท นั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ตามความพอใจของโจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ที่กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนในราคาที่เป็นธรรม โดยถือราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดไม่มีผลใช้กับกรณีของโจทก์เพราะได้มีการชำระเงินค่าทดแทนและการพิจารณาอุทธรณ์เสร็จเด็ดขาดไปแล้วนอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 76 ก็ระบุให้กำหนดค่าทดแทนเท่าราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ คือวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 ฟ้องโจทก์ที่โต้แย้งว่าการพิจารณากำหนดเอาตามราคาที่ดินในปี 2522 ไม่เป็นธรรมเป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดราคาที่ดินเพื่อเป็นค่าทดแทนไม่เป็นธรรม หาใช่เป็นการโต้แย้งว่าการปฏิบัติงานของจำเลยในการกำหนดค่าทดแทนมิได้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 283,500บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จคำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยชำระตั้งแต่วันที่ 2พฤศจิกายน 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 242,746.87 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การฟ้องคดีของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อให้ศาลกำหนดเงินค่าทดแทน แต่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนฟ้องคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์แล้วโจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนด 80,569 บาท ตามสำเนาหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนลงวันที่ 25 ธันวาคม 2532 แต่โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนด โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2533 ขอให้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท เนื้อที่ 81 ตารางวา กระทรวงคมนาคมกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 1,500 บาท โจทก์ไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์เพราะไม่เป็นธรรม โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนที่ดินในราคาซื้อขายในท้องตลาดตารางวาละ 25,000 ถึง 30,000 บาท แต่โจทก์ขอเรียกร้องตารางวาละ 20,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,885,625 บาทเห็นว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7 และมาตรา 9และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้ดำเนินการขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มตามขั้นตอนของมาตรา 25และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นการฟ้องขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยฎีกาต่อไปว่า การฟ้องคดีเพื่อให้กำหนดเงินค่าทดแทนในส่วนที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการปรองดองและเจ้าหน้าที่เวนคืนกำหนดแล้วกำหนดใหม่ เพราะเป็นการฟ้องเพื่อให้ศาลกำหนดเงินเพิ่มจากค่าทดแทนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนกำหนดเงินค่าทดแทน และเงินเพิ่มจากค่าทดแทนจึงเป็นคนละส่วนแยกจากกัน และกำหนดโดยองค์กรต่างกัน และไม่เกี่ยวข้องกันเพียงแต่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อคณะกรรมการปรองดองและเจ้าหน้าที่เวนคืนกำหนดเงินค่าทดแทนแล้วจำนวนเท่าใด ศาลก็จะนำมาเป็นหลักในการกำหนดเงินเพิ่มให้จากฐานที่กำหนดไว้เป็นค่าทดแทนนั้นแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสองและวรรคสี่ กำหนดให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่บุคคลตามมาตรา 18 โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้วตามมาตรา 25 ให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาได้ และมาตรา 26 ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรี จึงมีหน้าที่เพียงกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนเท่านั้น หน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวในการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนจึงมิใช่ดุลพินิจโดยเด็ดขาดของคณะกรรมการฯ รัฐมนตรี หรือศาลซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์หรือฟ้องของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนแล้วแต่กรณีย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนค่าทดแทนของคณะกรรมการฯ ชอบและเป็นธรรมตามมาตรา 18มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 หรือไม่ หากไม่ชอบหรือไม่เป็นธรรมแล้วก็ย่อมอำนาจเปลี่ยนแปลงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ชอบและเป็นธรรมตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22และมาตรา 24 โดยกำหนดให้ผู้ที่ถูกเวนคืนได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากค่าทดแทนที่น้อยกว่าราคาที่เป็นธรรมได้
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของจำเลยเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากค่าทดแทนที่กำหนดหรือไม่ โจทก์มิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมต้องแพ้คดี เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 3 ด้วยว่า ถ้าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินไม่ถูกต้อง จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีกจำนวนเท่าใดด้วย ฉะนั้น จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวด้วย
จำเลยฎีกาต่อไปว่า การกำหนดค่าทดแทนของคณะกรรมการปรองดองชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะได้กำหนดราคาที่ดินโดยถือตามราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้อยู่ในขณะที่ประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นหลักแล้วนำราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปีหลังพระราชกฤษฎีกาฯ บังคับใช้มาเฉลี่ยหาราคาในวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฯ ได้จำนวนเท่าใดแล้วกำหนดเป็นค่าทดแทน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 บัญญัติว่าเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ฉะนั้น เมื่อคณะกรรมการปรองดองพิจารณาค่าทดแทนได้กำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยถือตามราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้อยู่ในขณะที่ประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นหลักแล้วนำราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปีหลังพระราชกฤษฎีกาฯ บังคับใช้มาเฉลี่ยหาราคาในวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฯ มาเฉลี่ยจึงไม่ถูกตามที่กฎหมายกำหนด และข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ต้องถือเอาตามราคาซื้อขายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ เมื่อพิจารณาสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์แล้วเห็นว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในหมู่บ้านเสรีติดถนนกว้าง 12 เมตรเป็นย่านที่มีความเจริญแล้ว แนวโน้มการพัฒนาที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุมทั้งแปลงควรมีราคาตารางวาละ 5,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ในทำนองเดียวกับที่ฎีกาดังกล่าวข้างต้นโดยมิได้โต้แย้งว่าราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตารางวาละ 5,000บาท เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้ว
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2532 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 9 มีนาคม 2533 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คงที่ นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์