แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโดยตกลงจะชำระราคาและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันภายในกำหนด 6 เดือน การที่โจทก์ผู้จะซื้อได้นัดหมายให้จำเลยไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินณ สำนักงานที่ดินภายในกำหนด 6 เดือนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้บอกกล่าวแก่จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้แล้วว่าได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมแล้ว ให้จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้นคำบอกกล่าวของโจทก์จึงเสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้แล้ว จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องเสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทน เมื่อจำเลยไม่กระทำ จำเลยจึงได้ชื่อว่าผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 210
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทในราคา 74,000 บาทโจทก์ชำระเงินมัดจำ 20,000 บาทแก่จำเลยแล้ว กำหนดโอนกรรมสิทธิ์กันภายใน 6 เดือน ต่อมาโจทก์นัดหมายให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และรับเงินที่ค้าง 54,000 บาท จำเลยผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอน ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะหาเงินค่าที่ดินมาชำระให้โจทก์ไม่ได้ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนจำเลยจึงริบมัดจำและบอกให้โจทก์ออกจากที่พิพาท โจทก์ไม่ยอมออก จึงขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์กับบริวารออกจากที่พิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และรับเงิน 54,000 บาทจากโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า กรณีนี้เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินโจทก์มีหน้าที่ชำระเงินแก่จำเลย จำเลยมีหน้าที่ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่กันและกัน กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคสอง เมื่อโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้ไปนัดหมายให้จำเลยเป็นเจ้าหนี้ไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินณ สำนักงานที่ดิน ภายในกำหนดเวลา 6 เดือนแล้ว ย่อมแสดงว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้มีเงินแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้บอกกล่าวแก่จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้แล้วว่าได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเพรียงแล้ว ให้จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น อันเป็นการเพียงพอแล้ว คำบอกกล่าวของโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้จึงเสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้แล้ว จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องเสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงต้องทำ เมื่อจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่กระทำ จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 210 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษายืน