แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นคนต่างด้าวร่วมกับพวกซึ่งเป็นคนต่างด้าวอีกคนหนึ่งซื้อที่ดินตาม น.ส.3 แปลงหนึ่งโดยตกลงให้จำเลยมีชื่อถือสิทธิแทน การกระทำดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 จึงเป็นโมฆะ แต่มาตรา 94 แห่งกฎหมายดังกล่าวให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นเสียภาษีภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดให้ ความเป็นโมฆะดังกล่าวจึงไม่เสียเปล่า ยังมีผลตามกฎหมายอยู่ หากแต่ว่าคนต่างด้าวจะถือสิทธิเอาที่ดินเป็นของตนไม่ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นโจทก์ย่อมนำสืบได้ว่า จำเลยซึ่งมีชื่อถือสิทธิในที่ดินนั้นถือสิทธิทดแทนตนและบังคับจำเลยให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้แก่ตนได้แต่จะขอให้แสดงกรรมสิทธิ์และให้จำเลยโอนที่พิพาทให้แก่ตนไม่ได้
ฎีกาจำเลยกล่าวแต่เพียงว่ามีความสงสัยในคำวินิจฉัยของศาลล่างมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งในข้อโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับนายเต็กหงบิดาจำเลยเข้าหุ้นกันซื้อที่ดินนายสง่าตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๙๐ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย แปลงหนึ่ง ออกเงินคนละเท่าๆ กัน แต่โจทก์กับนายเต็กหงเป็นคนต่างด้าว จึงตกลงให้จำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาจำเลยได้นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ของนายเต็กหงต่อธนาคาร โจทก์ทราบจึงคัดค้านและขอให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่จำเลยไม่ยินยอม จึงขอให้แสดงว่าที่พิพาทกึ่งหนึ่ง เป็นของโจทก์ให้จำเลยแบ่งโอนให้โจทก์หากการโอนมีข้อขัดข้องก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยมิได้ซื้อที่พิพาทไว้แทนโจทก์ แต่ได้ซื้อในฐานะส่วนตัวและได้ครอบครองโดยเปิดเผยตั้งแต่วันจำนอง (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๘) เป็นต้นมา จนถึงวันฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว หากจะฟังว่าจำเลยเป็นตัวแทนซื้อที่ดินข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์และนายเต็กหง พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งทางด้านทิศเหนือให้โจทก์ หากมีข้อขัดข้องก็ให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้แสดงว่าที่ดินครึ่งหนึ่งเป็นของโจทก์ให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์นั้นเสียนอกนั้นยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คนต่างด้าวจะได้ที่ดินมาโดยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๖ วรรคแรกที่บัญญัติไว้ว่า “คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญา ซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย” แต่ก็มีมาตรา ๙๔ ได้บัญญัติถึงบรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวดังกล่าวแม้จะเป็นโมฆะก็ตาม แต่การเป็นโมฆะของการได้ที่ดินมาเช่นนี้หาทำให้เสียเปล่าไปไม่ ยังคงมีผลตามกฎหมายอยู่ หากแต่ว่าคนต่างด้าวนั้นจะถือสิทธิเอาที่ดินเป็นของตนมิได้ ต้องจำหน่ายไปเสียเท่านั้น และเห็นว่าการนำสืบว่าผู้มีชื่อในโฉนดหรือ น.ส.๓ ลงชื่อไว้แทนคนต่างด้าวนั้นชอบที่จะนำสืบได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับจำเลยให้ปฏิบัติ ๒ คำขอ คำขอข้อแรกที่ขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทครึ่งหนึ่งเป็นของโจทก์ ให้จำเลยแบ่งโอนให้โจทก์ ซึ่งคำขอข้อนี้เห็นว่าไม่อาจบังคับให้ไว้ ส่นคำขอข้อหลังที่ขอให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์นั้น เห็นว่าเป็นคำขอที่ศาลอาจบังคับให้ได้ ดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์มีอำนาจฟ้องในคำขอของโจทก์ในข้อหลังนี้ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเชื่อถือพยานบุคคลของโจทก์ว่ามีน้ำหนักดีกว่าพยานเอกสารของจำเลย จำเลยมีความสงสัย จึงขอฎีกาขึ้นมาเพื่อศาลฎีกาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า ฎีกาของจำเลยมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งในข้อโต้แย้ง คำวินิจฉัยของศาลล่างในการฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องอย่างไรเพียงอ้างเอาความสงสัยขึ้นมาลอยๆ ดังนี้ เห็นว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน