คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7421/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยจำเลยที่ 1จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหลังจากมีการมอบอำนาจแล้ว 4 วันและตามหนังสือมอบอำนาจมีตราของห้างจำเลยที่ 1 ประทับไว้ที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 2 ด้วยมิใช่เป็นเรื่องมอบอำนาจระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2โดยเฉพาะเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2531 โจทก์ได้มอบให้จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอำนาจและหน้าที่จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยมาทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและป้องกันการโจรกรรม ตลอดจนควบคุมดูแลการจราจรในบริเวณศูนย์การค้าเมโทร และให้จำเลยทั้งสอง มีหน้าที่ในการเก็บเงินค่าบริการจากผู้ที่นำรถเข้ามาจอดภายในบริเวณศูนย์การค้าด้วย โดยจำเลยทั้งสองจะต้องนำเงินที่เก็บได้ดังกล่าวรวบรวมส่งให้แก่โจทก์เป็นรายวันทุกวัน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้จัดเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และเก็บเงินค่าบริการจอดรถในบริเวณศูนย์การค้าส่งให้แก่โจทก์ประมาณวันละ 3,000 บาท เป็นประจำทุกวันตลอดมา จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม 2532 จำเลยทั้งสองและเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2532 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกการมอบอำนาจดังกล่าวเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับทราบแล้วจำเลยทั้งสองได้เลิกจัดเจ้าหน้าที่เข้ามารักษาความปลอดภัยและจัดการจราจร แต่ยังคงให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเก็บเงินค่าบริการจอดรถจากผู้ที่นำรถเข้ามาจอดภายในบริเวณศูนย์การค้าต่อไปและไม่ยอมส่งมอบเงินที่เก็บได้ให้แก่โจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าบริการจอดรถที่จำเลยทั้งสองได้เก็บไปในอัตราวันละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 202 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 606,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์วันละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะเลิกเก็บเงินค่าบริการจอดรถในบริเวณศูนย์การค้าเมโทร
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาหรือรับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของบริษัทสินพรชัย จำกัด มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณอาคารและถนนรอบศูนย์การค้าเมโทร ในการนี้โจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินเดือนละ 120,000 บาท ซึ่งนอกจากจำเลยที่ 2 จะมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและจัดการจราจรแล้ว จำเลยที่ 2 ยังมีหน้าที่จัดเก็บเงินค่าบริการจอดรถภายในบริเวณศูนย์การค้าเมโทรส่งให้แก่โจทก์อีกด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้จัดเก็บเงินค่าบริการจอดรถส่งให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกวันประมาณวันละ1,400 บาท โจทก์บอกเลิกการมอบอำนาจแก่จำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกการมอบอำนาจแก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยทั้งสองได้ และการที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โจทก์แต่โจทก์กลับไม่จ่ายค่าจ้าง ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายจึงขอให้โจทก์ชำระเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินเดือนละ120,000 บาท นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา8 เดือน รวมเป็นเงิน 960,000 บาท แต่เมื่อหักกับเงินค่าบริการจอดรถที่จำเลยที่ 2 เก็บได้และไม่ได้นำส่งแก่โจทก์ประมาณวันละ 1,400 บาทแล้ว ยังคงเหลือเงินค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยที่ 2เป็นเงินจำนวน 624,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 624,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มอบอำนาจให้อำนาจทั้งสองร่วมกันรักษาความปลอดภัย จัดการจราจรและจัดเก็บเงินค่าบริการจอดรถในบริเวณศูนย์การค้าเมโทร มิใช่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2เพียงคนเดียวจำเลยทั้งสองจัดเก็บเงินค่าบริการจอดรถได้วันละประมาณ3,000 บาท ทุกวัน โจทก์บอกเลิกการมอบอำนาจแก่จำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างหรือค่าตอบแทนใด ๆ จากโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 192,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2ดำเนินกิจการตามฟ้องหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ไว้ แต่ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นหนังสือจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้จัดทำขึ้นภายหลังจำเลยที่ 1จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 แล้วได้มีตราของห้างจำเลยที่ 1 ประทับไว้ที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ขณะโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามที่จำเลยกล่าวอ้างก็ตาม แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหลังจากมีการมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว 4 วัน และตามเอกสารหมาย จ.4 และเอกสารอื่น ๆ ของจำเลยที่ออกมาภายหลังจำเลยที่ 1จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วได้มีตราของห้างจำเลยที่ 1 ประทับไว้ที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ทุกครั้ง แสดงว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 2 ด้วย มิใช่เป็นเรื่องมอบอำนาจระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะเท่านั้นเพราะหากโจทก์มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว จำเลยที่ 2คงไม่กระทำในนามของจำเลยที่ 1 และประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการตามฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share