คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 311/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยส่งแบบแจ้งการประเมินแก่โจกท์ ไม่มีผู้ใดยอมรับ จำเลยจึงนำแบบแจ้งการประเมินไปปิดไว้ที่หน้าประตูสำนักงานโจทก์ตามที่โจทก์ระบุในการยื่นแบบ อ.1 แม้สำนักงานดังกล่าวจะเป็นสำนักงานสาขาของโจทก์ก็รวมอยู่ในความหมายของคำว่าสำนักงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 8 ที่ให้ใช้บังคับขณะนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยปิดแบบแจ้งการประเมิน ณ สถานที่ดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 วรรคหก (2) กำหนดไว้มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 30 บังคับแก่บุคคลที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสีย…โดยได้ทำการประเมินหรือสั่งก่อนวันที่พระราชกำหนด นี้ใช้บังคับ คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบก่อนวันที่พระราชกำหนดใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ทั้งการประเมินของจำเลยเป็นการประเมินภาษีการค้า ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา30 เป็นเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้โจทก์จะเสียภาษีส่วนนี้ไปแล้วก็เป็ฯภาษีคนละประเภทกัน โจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529โดยนัยนี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรและชำระภาษีอากรตามพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2529 แต่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 30 เพราะจำเลยประเมินภาษีเมื่อวันที่16 มกราคม 2529 อันเป็นวันก่อนประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวและจำเลยอายัดที่ดินและรถยนต์ของโจทก์ ขอให้ถอนการอายัด
จำเลยให้การว่า จำเลยปิดแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า ณที่ตั้ง สำนักงานสาขาและสำนักงานการค้าของโจทก์ เมื่อวันที่ 23มกราคม 2529 ซึ่งเป็นเวลาก่อนพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) ใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 30 ภาษีที่โจทก์ยื่นคำขอและเสียเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล มิใช่ภาษีการค้าที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ทำการประเมิน
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ประเด็นข้อต่อไปที่ว่าการปิดแบบแจ้งการประเมินเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในการไปส่งแบบแจ้งการประเมินแก่โจทก์นั้น ไม่มีผู้ใดยอมรับ กรณีเช่นนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8วรรคสาม ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น กำหนดไว้ว่า จะส่งโดยวิธีปิดหมายหรือหนังสือในที่ซึ่งเห็นได้ถนัดที่ประตูบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้ จำเลยนำสืบได้ความว่าได้นำแบบแจ้งการประเมินไปปิดไว้ที่หน้าประตูของสำนักงานโจทก์บ้านเลขที่ 182 หมู่ที่ 9 ตำบลบางกะจะอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี จำเลยมีเอกสารหมาย ล.13หนังสือแสดงหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนสำนักงานของโจทก์เป็นพยานซึ่งนางปราณี ภาษีผล ผู้ออกหนังสือดังกล่าวเบิกความยืนยันว่าบ้านเลขที่ 182 หมู่ที่ 9 ถนนท่าแฉลบ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรีเป็นสำนักงานสาขาของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์คัดค้านว่า การส่งหมายหรือหนังสือถึงโจทก์จะต้องส่งที่สำนักงานบริหารกิจการของโจทก์ ไม่รวมถึงสำนักงานสาขา เห็นว่า คำว่าสำนักงานสาขาก็รวมอยู่ในความหมายของคำว่าสำนักงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 8ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นด้วย และคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ติดต่อกับจำเลยในการยื่นรายการภาษีเงินได้ปี พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2525 ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 และในการยื่นแบบ อ.1 ตามเอกสารหมายจ.4 โจทก์ระบุสำนักงานของโจทก์อยู่ที่เลขที่ 182 หมู่ที่ 9ถนนท่าแฉลบ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทรบุรี จังหวัดจันทบุรีทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนั้นเป็นสำนักงานของโจทก์ตามความเป็นจริงด้วย ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยปิดแบบแจ้งการประเมิน ณ สถานที่ดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประเด็นข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 วรรคหก (2) กำหนดไว้มิให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 30 บังคับแก่บุคคลที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสีย…โดยได้ทำการประเมินหรือสั่งก่อนวันที่พระราชกำหนด นี้ใช้บังคับ ทั้งนี้เฉพาะเงินได้หรือรายรับสำหรับระยะเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียหรือนำส่งพระราชกำหนด ดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529เป็นต้นไป คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังว่า เจ้าพนักงานได้ทำการประเมินและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2529 อันเป็นวันก่อนที่พระราชกำหนดใช้บังคับ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 นั้น อีกทั้งการประเมินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 เป็นการประเมินภาษีการค้า ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30 ดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 นั้นเป็นเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้โจทก์จะเสียภาษีในส่วนนี้ไปแล้ว ก็เป็นภาษีคนละประเภทกัน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 โดยนัยนี้ด้วยที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นนี้ แทนจำเลย1,000 บาท

Share