คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3109/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โดยทั่วไปสิ่งใดที่กล่าวยกขึ้นเป็นตัวอย่างไว้ สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้หรือต้องละเว้นไม่กระทำตามแต่ข้อความก่อนมีการยกตัวอย่างได้ระบุไว้ คำว่า “ตัดค่าจ้าง ถูกพักงาน ถูกภาคทัณฑ์”เป็นข้อความในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในหัวข้อระเบียบวินัยและโทษทางวินัย จึงเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง แต่การกระทำผิดทางวินัยในความผิดประเภทต่าง ๆ ได้มีกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น โทษดังที่กล่าวข้างต้นซึ่งมิได้ระบุถึงในโทษที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะนี้ จำเลยจึงนำมาลงโทษได้เฉพาะเมื่อประสงค์จะลงโทษที่เบากว่าโทษที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วเท่านั้น จำเลยมาทำงานสายเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งโทษที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะคือปลดออกจากงาน การที่จำเลยลงโทษเพียงพักงานโจทก์ ซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าการปลดออกจากงานจึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว และเมื่อการลงโทษพักงานชอบด้วยระเบียบ จำเลยก็มีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ในวันที่พักงานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างรวมเดือนละ 6,000 บาท เมื่อวันที่ 7 ถึง 14 มกราคม 2535 จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและหักค่าจ้างไว้จำนวน 1,430 บาทโดยมิชอบด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อมาวันที่ 2 มีนาคม2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่แจ้งเหตุแห่งการเลิกจ้าง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่หักไว้ ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคล โจทก์กระทำผิดเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เรื่อง การมาทำงานสาย โดยในปี 2534 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม โจทก์มาทำงานสาย 33 ครั้ง จำเลยเตือนด้วยวาจา เดือนมิถุนายน 2534 โจทก์มาทำงานสาย 13 ครั้ง จำเลยลงโทษโดยเตือนเป็นหนังสือครั้งที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2534 โจทก์มาทำงานสาย 6 ครั้ง จำเลยลงโทษเตือนเป็นหนังสือครั้งที่ 2 เดือนธันวาคม 2534 โจทก์มาทำงานสาย 20 ครั้ง จำเลยลงโทษด้วยการพักงาน7 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 11 และวันที่ 13 ถึงวันที่ 14 มกราคม2535 โดยไม่ได้รับค่าจ้าง การกระทำของจำเลยชอบด้วยระเบียบ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างระหว่างพักงาน และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะหลังจากจำเลยตักเตือนและลงโทษพักงานโจทก์แล้ว โจทก์ก็ยังมาทำงานสายอีกจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยมีอำนาจพักงานโจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงานได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โดยทั่วไปนั้นสิ่งใดที่กล่าวยกขึ้นเป็นตัวอย่างไว้ สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้หรือต้องละเว้นไม่ กระทำตามแต่ข้อความก่อนหน้าที่จะมีการยกตัวอย่างได้ระบุไว้ จากเหตุผลดังกล่าวคำว่า “ตัดค่าจ้างถูกพักงาน ถูกภาคทัณฑ์” ซึ่งเป็นข้อความในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ในหัวข้อระเบียบวินัยและโทษทางวินัย จึงหมายถึงโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากการกระทำความผิดทางวินัยในความผิดประเภทต่าง ๆ ในครั้งที่ 1 และครั้งต่อ ๆ ไป ได้มีการกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นโทษตัดค่าจ้าง ถูกพักงาน และถูกภาคทัณฑ์ ซึ่งไม่มีระบุถึงในโทษที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะนี้ จำเลยจึงจะนำมาลงโทษได้เฉพาะกรณีเมื่อประสงค์จะลงโทษที่เบากว่าโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดตามที่มีการกำหนดโทษไว้เป็นการเฉพาะตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยที่จะลงโทษในลักษณะดังกล่าวเท่านั้น เช่น การกระทำผิดในความผิดประเภท 17.1.3 ครั้งที่ 2 ตามปกติก็จะถูกลงโทษปลดออกตามที่มีการกำหนดโทษไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่จำเลยมีสิทธิที่จะลงโทษเพียงตัดค่าจ้างหรือพักงาน หรือภาคทัณฑ์ ซึ่งเป็นโทษที่เบาแทนการปลดออกหรืออย่างเช่น กระทำความผิดในความผิดประเภท 17.1.4 ครั้งแรก ซึ่งต้องถูกลงโทษปลดออกจากงาน จำเลยก็มีสิทธิลงโทษเพียงตัดค่าจ้างหรือพักงานหรือภาคทัณฑ์ ด้วยเหตุนี้คำว่า ตัดค่าจ้าง ถูกพักงานถูกภาคทัณฑ์ ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ในข้อ17 ระเบียบวินัยและโทษทางวินัย จึงเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยมีอำนาจที่จะใช้ลงโทษพนักงานผู้กระทำผิดทางวินัยได้ภายในเงื่อนไขว่า โทษที่ลงนั้นต้องเป็นโทษที่เบากว่าโทษที่ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วโจทก์กระทำผิดเรื่องมาทำงานสายในครั้งที่จำเลยสั่งพักงานนี้ ตามหลักเกณฑ์การลงโทษที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับการลงโทษการกระทำผิดครั้งที่ 4 ก็คือ ปลดออกจากงาน การที่จำเลยลงโทษพักงานโจทก์ซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าการปลดออกจากงานจึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แล้ว เมื่อการลงโทษพักงานโจทก์ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเช่นนี้ จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ในวันที่พักงานได้
พิพากษายืน

Share