แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ภาพถ่ายโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารปลอม ประกอบคำร้องในคดีแพ่งเพื่อให้ศาลหลงเชื่อว่าที่ดินเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้ ม. ทำให้โจทก์ไม่ทราบคำร้อง และนำภาพถ่ายโฉนดปลอมอ้างส่งเป็นพยานประกอบการเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายข้อตามฐานความคิด แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าประเด็นสำคัญในคดีแพ่งมีว่าอย่างไร และพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จว่า คดีแพ่งมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิสูจน์ว่าที่ดินเป็นของ ม. จริงหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า ม. เป็นผู้ถือสิทธิ์ในที่ดินและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วน และฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมว่าจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าเป็นเอกสารท้ายคำร้องเพื่อให้ศาลเชื่อว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์เป็นของ ม. เมื่ออ่านฟ้องดังกล่าวรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งมีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินเป็นของ ม. หรือไม่ และภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมที่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น เพราะทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีครบองค์ประกอบความผิดแล้ว
จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จพร้อมกันไปกับการกระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมโดยกระทำในวันเวลาและคดีเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ตำบลปทุม (ในเมือง) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 1353/2543 หมายเลขแดงที่ 2812/2543 ของศาลชั้นต้น เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 โดยการครอบครองปรปักษ์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมโฉนดเลขที่ 2601 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการขึ้นแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด โดยการตัดทอนข้อความหรือรายการในสารบัญการจดทะเบียนในภาพถ่ายโฉนดดังกล่าวหลายรายการออกไป ซึ่งรวมถึงรายการการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระหว่างโจทก์ผู้รับโอน กับนายภูมิชัย นายเล็ก นางสาวกัญญา ผู้โอน คงเหลือแต่รายการที่แสดงการจดทะเบียนของนายโมฮารซิงห์ ผู้จำนองกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้รับจำนองเป็นรายการจดทะเบียนลำดับสุดท้ายอันเป็นความเท็จ เพื่อให้ศาลหลงเชื่อว่าภาพถ่ายโฉนดดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง มีนายโมฮารซิงห์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารปลอมดังกล่าวเป็นเอกสารท้ายคำร้องในคดีแพ่งดังกล่าวโดยมีเจตนาให้ศาลหลงเชื่อว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์ตามคำร้องเป็นที่ดินของนายโมฮารซิงห์ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 2601 โดยการครอบครองปรปักษ์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารปลอมและร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานได้สาบานตนและเบิกความรับรองความถูกต้องของภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 2601 ท้ายคำร้องแล้วอ้างส่งเป็นพยานเอกสารต่อศาลเพื่อให้ศาลเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้สาบานตนและเบิกความให้การเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า “ข้าฯ เป็นผู้ครอบครองโฉนดเลขที่ 2601 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีปรากฏตามโฉนดหมาย ร.1 ตามแผนที่ด้านหลังโฉนด ข้าฯ ได้ครอบครองที่ดินด้านซ้ายมือซึ่งขีดด้วยหมึกแดง เนื้อที่ 2 งาน ปรากฏตามแผนที่จำลอง ทนายผู้ร้องได้ดูเอกสารหมาย ร.2 ที่ดินดังกล่าวมีชื่อ นายโมฮารซิงห์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์…” ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลดังกล่าวถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะประเด็นแห่งคดีที่จะต้องพิสูจน์ว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของนายโมฮารซิงห์จริงหรือไม่ ทำให้ศาลหลงเชื่อว่านายโมฮารซิงห์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำร้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 177, 180, 264, 266, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคหนึ่ง 180 วรรคสอง 266 (1), 268 วรรคแรก 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง และเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี จำคุก 1 ปี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี จำคุก 1 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เฉพาะฐานร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ฐานร่วมกันปลอมและฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ 2.3 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องข้อ 2.2, 2.3 และ 2.4 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 2601 ซึ่งเป็นเอกสารปลอม ประกอบคำร้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1353/2543 หมายเลขแดงที่ 2812/2543 เพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อว่าที่ดินเป็นของนายโมฮารซิงห์ และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้นายโมฮารซิงห์ ทำให้โจทก์ไม่ทราบคำร้อง และนำภาพถ่ายโฉนดปลอมดังกล่าวอ้างส่งเป็นพยานประกอบการเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายข้อตามฐานความผิด แม้ในฟ้องข้อ 2.3 โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าประเด็นสำคัญในคดีแพ่งดังกล่าวมีว่าอย่างไร และพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่ตามฟ้องข้อ 2.4 โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จว่า คดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิสูจน์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของนายโมฮารซิงห์จริงหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่านายโมฮารซิงห์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ทำให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 หลงเชื่อว่านายโมฮารซิงห์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วน และฟ้องข้อ 2.2 โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 2601 ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าเป็นเอกสารท้ายคำร้องเพื่อให้ศาลเชื่อว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์เป็นของนายโมฮารซิงห์ เมื่ออ่านฟ้องดังกล่าวรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1353/2543 หมายเลขแดงที่ 2812/2543 มีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของนายโมฮารซิงห์หรือไม่ และภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมที่อ้างส่งจึงเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น เพราะทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นของนายโมฮารซิงห์ และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนั้นเมื่ออ่านฟ้องทั้งฉบับแล้ว ย่อมเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า กรณีมีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 รับราชการมานานจนเกษียณอายุราชการมีประวัติดีเด่นในราชการ ปัจจุบันจำเลยที่ 2 ก็มีอายุมากถึง 72 ปี และป่วยเป็นโรงมะเร็งในลำไส้ใหญ่ถึง 2 ครั้ง ต้องเข้ารับการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจากแพทย์ ความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงอยู่ในวิสัยพอที่จะแก้ไขฟื้นฟู เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปด้วยการรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแลซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2 และสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดทำนองนี้อีกเห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่ง
อนึ่งความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมโดยการใช้ภาพถ่ายโฉนดปลอมประกอบคำร้อง ตามฟ้องข้อ 2.2 ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับความผิดฐานเบิกความเท็จได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จพร้อมกันไปกับการกระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามฟ้องข้อ 2.3 และ 2.4 โดยกระทำในวันเวลาและคดีเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมนั้นจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก มาตรา 180 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 มาตรา 266 (1) มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ความผิดฐานเบิกความเท็จ ฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง มีกำหนด 2 ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยที่ 2 ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3