แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันเข้าพรรษาอันเป็นวันหยุดราชการ และวันที่ 2 สิงหาคม 2547 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันเข้าพรรษา โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นกรม จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินจากจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พฤษภาคม มิถุนายนและสิงหาคม 2542 และเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2543 รวมเป็นเงิน 3,139,521.32 บาท โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า ในระยะเวลาดังกล่าวที่โจทก์เป็นเพียงคู่สัญญากับกรมชลประทานไม่ได้รับค่าจ้างจากกรมชลประทาน แต่บริษัทพัฒนสมบัติ จำกัด ผู้รับจ้างทำงานให้กรมชลประทาน เป็นผู้รับค่าจ้างทั้งหมดจากกรมชลประทาน โจทก์ไม่มีรายได้จึงไม่ต้องภาษีใบกำกับภาษีปลอมที่นำมาหักค่าใช้จ่ายไม่ได้ซึ่งเป็นของบริษัท ธ.193 ปิโตรเลียม จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดโพธิ์วัฒนา นั้น บริษัทพัฒนสมบัติ จำกัด นำมาให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยโจทก์ไม่ทราบว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยืนตามการประเมินของจำเลยที่ 1 โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์มิได้เป็นผู้มีเงินได้ ผู้มีเงินได้คือบริษัทพัฒนสมบัติ จำกัด เอกสารต่างๆ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน รายการซื้อ และรายการขาย บริษัทพัฒนสมบัติ จำกัด เป็นผู้จัดทำมาให้ทั้งสิ้น โจทก์เชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงและได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการตรวจสอบไต่สวนแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เรียกบริษัทพัฒนสมบัติ จำกัด ไปไต่สวน และชั้นพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ก็มิได้เรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทเคหาสน์รุ่งเรือง จำกัด บริษัท ธ.193 ปิโตรเลียม จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดโพธิ์วัฒนามาไต่สวน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนำพยานดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไต่สวนได้เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าหากได้เรียกพยานดังกล่าวมาไต่สวนตามอำนาจหน้าที่จะได้ความจริงว่าผู้ใดเป็นผู้มีเงิน ผู้ใดทำใบกำกับภาษีปลอมหรือเอกสารไม่ถูกต้อง การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการซื้อขายสินค้าและชำระราคากันจริง เป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีการเรียกพยานหลักฐานมาชี้แจง ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำนวน 3,139,521.32 บาท หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา แต่หากเห็นว่าโจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ขอให้ลดจำนวนลงให้มากที่สุด
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 เป็นกรณียื่นขอระยะเวลาเกิน 30 วัน อันเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฟ้องภายหลังสิ้นระยะเวลานั้นแล้ว คำร้องที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิได้แสดงถึงพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัย จึงไม่มีเหตุที่ศาลภาษีอากรกลางจะอนุญาตให้โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ได้ อีกทั้งคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 โดยประสงค์จะขอขยายระยะเวลาในการยื่นฟ้องออกไป 30 วัน นับจากวันที่ยื่นคำร้อง ดังนั้น หากศาลภาษีอากรกลางอนุญาตตามขอ ระยะเวลาจะสิ้นสุดวันที่ 1 กันยายน 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กันยายน 2547 จึงล่วงพ้นระยะเวลาที่จะยื่นคำฟ้องคดีนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว กรณีของโจทก์เป็นการทำลายระบบภาษีอากรอย่างร้ายแรง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่พิจารณาลดหรืองดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ จึงไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันให้งดหรือลดเบี้ยปรับได้ตามมาตรา 89 (7) และมาตรา 89 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ็ต่อศาลภาษีอากรกลางภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันเข้าพรรษาอันเป็นวันหยุดราชการ และวันที่ 2 สิงหาคม 2547 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันเข้าพรรษา โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2547 จึงเป็นการร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมีคำสั่งอนุญาตตามขอ แต่เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งโดยผิดหลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลานั้น โดยครบกำหนดวันที่ 2 กันยายน 2547 โจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้นแล้ว จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเองและพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่ชอบ และเห็นสมควรให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลภาษีอากรกลาง เพื่อให้พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และ 2 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป
อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์อย่างคนอนาถา โจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนอนาถา จึงต้องคืนค่าธรรมเนียมส่วนนี้ให้แก่โจทก์”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไปตามรูปคดี คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่