คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินทั้งแปลง โจทก์ร่วมสร้างตึกแถวซึ่งรวมทั้งตึกแถวซึ่งจำเลยที่ 2 ซื้อไปด้วย โดยเว้นที่ว่างด้านหน้าตึกแถว 5 เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกจากถนนสุขุมวิทไปยังตึกแถวแต่ละห้อง โดยที่ดินหน้าตึกแถวยังเป็นของโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อตึกแถวย่อมรู้แต่แรกแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีสิทธิใช้ที่ดินหน้าตึกแถว ก็ต้องใช้ในขอบเขตสมควร การที่จำเลยที่ 2 เทปูนซีเมนต์ตลอดจนกางเต็นท์ และตั้งขายรถจักรยานยนต์ในที่ดินหน้าตึกแถวของโจทก์ร่วมเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จำเลยที่ 1ที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๑๐ ของบริษัทว่องไววิทย์ที่ดินและอาคาร จำกัด ด้วยการกางเต๊นท์ผ้าใบและเทปูน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๓๖๒, ๓๖๕
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทว่องไววิทย์ที่ดินและอาคารจำกัดเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕, ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน๖,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คนละ ๖ เดือน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมสร้างตึกแถวซึ่งรวมทั้งตึกแถวของจำเลยที่ ๒ นั้นตามแผนที่เอกสารหมาย ล.๒ โดยเว้นที่ว่างด้านหน้าตึกแถวไว้ห่างจากตึกแถว ๕ เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกจากถนนสุขุมวิทไปยังตึกแถวแต่ละห้อง (เขตที่ดินหน้าตึกแถวบางส่วนติดสะพาน) จำเลยที่ ๒ เทปูนซีเมนต์ในพื้นที่ดินของโจทก์ร่วมดังกล่าวและกางเต๊นท์ตั้งรถจักรยานยนต์บนที่ดินที่เทปูนซีเมนต์ตามภาพถ่ายตึกแถวของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๗ ก็เห็นได้ว่ามีการตั้งรถจักรยานยนต์บนพื้นที่เทปูนซีเมนต์จนเต็มเนื้อที่ และจากโฉนดแปลงเดิมก่อนทำการแบ่งแยกเป็นเนื้อที่ดินแปลงย่อยเพื่อสร้างตึกแถวตามเอกสารหมาย จ.๓ ก็เห็นได้ชัดว่าโจทก์ร่วมยังมีที่ดินหน้าตึกแถวที่ก่อสร้างขึ้นแต่ละห้อง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ซื้อตึกแถวดังกล่าว ย่อมจะต้องรู้แต่แรกแล้วว่าที่ดินหน้าตึกแถวเป็นของโจทก์ร่วม แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะมีสิทธิใช้ที่ดินดังกล่าวก็จะต้องใช้ให้อยู่ในขอบเขตสมควร การที่จำเลยที่ ๒ ทำการเทปูนซีเมนต์ในที่ดินของโจทก์ร่วมตลอดจนกางเต๊นท์และตั้งขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิของตนเกินขอบเขต จึงเป็นการถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขแล้วการกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกและจำเลยที่ ๑จึงย่อมต้องมีความผิดด้วย
สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๓ได้มีส่วนร่วมในการกระทำของจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงภรรยาของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
อย่างไรก็ดี จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของตึกแถวที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ บุกรุกที่ดินโจทก์ร่วมซึ่งอยู่หน้าตึกแถวของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เอง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ก็มีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวในขอบเขตอันสมควรอยู่แล้ว การวางโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงสมควรเป็นไปในสถานเบาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นจำนวน ๖,๐๐๐ บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ เดือน เป็นการรุนแรงเกินกว่าพฤติการณ์แห่งคดีศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับความผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕(๒) ประกอบด้วยมาตรา ๓๖๒, ๘๓ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒มีกำหนด ๒ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓.

Share