คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานเดินหมายนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 แต่ผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ออกไปธุระนอกบ้าน ไม่มีผู้ใดยอมรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แทนจำเลยที่ 2 ดังนี้ มิใช่กรณีที่จะลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 และจำเลยที่ 2 มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน ๕๑,๓๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕๑,๓๖๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า เมื่อโจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๒ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เพราะไม่มีบุคคลใดยินยอมรับหมายไว้แทน โดยผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ ออกไปธุระข้างนอก ศาลจะสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยการลงโทษทางหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์ขอได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๘ ว่า พนักงานเดินหมายได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งยังบ้านเลขที่ ๑๕/๑ ถนนวิภาวดี – รังสิต แขวงลาดยาว เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร ครั้นถึงสถานที่ดังกล่าวไม่พบผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ คงพบแต่ชายไม่ทราบชื่ออายุประมาณ ๖๐ ปีแจ้งว่าจำเลยที่ ๒ (น่าจะเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ ๒) ออกไปธุระข้างนอก และไม่ยินยอมรับหมายไว้แทน จึงส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ และได้ความตามที่พนักงานเดินหมายบันทึกไว้ในหมายเหตุท้ายรายงานฉบับดังกล่าวว่า ที่อยู่ของจำเลยที่ ๒ เป็นโรงงานเป๊ปซี่ อาคารตึก ๒ ชั้นอยู่ริมถนนใกล้เคียงกองบัญชาการตำรวจภูธร ๑ กับปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.๑ และ ล.๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ อ้างในชั้นไต่สวนว่า สำนักทำการงานของจำเลยที่ ๒ อยู่ริมถนน มีชื่อบริษัทจำเลยที่ ๒ ติดตั้งไว้ทางด้านหน้าอาคาร โดยใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ถนัดชัดเจนถึงแม้จะมองจากระยะไกล จึงรังฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่ ณ สถานที่ดังกล่าว มิใช่กรณีที่จะลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๙ ได้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบและจะถือว่าจำเลยที่ ๒ ทราบประกาศการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยผลของกฎหมายแล้วไม่ได้ จำเลยที่ ๒ มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่…”
พิพากษายืน.

Share