คำวินิจฉัยที่ 63/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

เอกชนเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และจัดที่ดินดังกล่าว ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นเอกชนเข้าทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าร่วมกันเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เข้าไปยุ่งเกี่ยว กับห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดิน เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี สืบเนื่องมาจากการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และการจัดที่ดินดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เข้าทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการยื่นคำขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ซึ่งเป็นเท็จ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความ เสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๓/๒๕๕๖

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเลย

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ นายสุชาติ รุ่งพรชัย ที่ ๑ นางสาวเกตน์สิรี เจียรุ่งเรืองกิจ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ กับพวกรวม ๙ คน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๙๙/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๐๐ ถึง ๒๐๔ จำนวน ๕ แปลง ตั้งอยู่ตำบลศรีสงคราม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยซื้อมาจากเจ้าของเดิมเมื่อปี ๒๕๓๒ ในขณะมีหลักฐานเป็น น.ส. ๓ และเข้าทำประโยชน์เรื่อยมา โดยมอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้จัดการดูแลและทำประโยชน์ในที่ดินแทน และได้นำ น.ส. ๓ ไปขอออกหลักฐานเป็น น.ส. ๓ ก. ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาวังสะพุง แต่ไม่อาจออกโฉนดที่ดินได้เนื่องจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้าน อ้างว่าที่ดินทั้งห้าแปลงได้ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ ก. ภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินดังกล่าว เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน ส.ป.ก. แปลงเลขที่ ๓ และเลขที่ ๗ ถึง ๑๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการยื่นคำขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ซึ่งเป็นเท็จ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าร่วมกันเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ แปลงเลขที่ ๓ และเลขที่ ๗ ถึง ๑๒ ในส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ทั้งห้าแปลงของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กับห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าไม้ถาวรเมื่อปี ๒๕๐๖ ต่อมาในปี ๒๕๓๒ ได้มีมติจำแนกพื้นที่ออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ดินทำกินของราษฎรหรือเพื่อให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กำหนดให้พื้นที่ที่จำแนกมาเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี ๒๕๓๖ การจัดที่ดินและออกหนังสือรับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจขอออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งเจ็ดฉบับได้ ที่ดินทั้งห้าแปลงที่ผู้ฟ้องคดีอ้างได้ออก น.ส. ๓ โดยอาศัยใบจองที่ออกในเขตป่าไม้ถาวร เป็นใบจองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย น.ส. ๓ ก. ทั้งห้าฉบับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ให้การว่า การออก น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกภายหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งห้าแปลง ที่พิพาทเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของและมีราษฎรบุกรุกจับจองเป็นเจ้าของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ จึงร่วมกับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรผสมผสานจังหวัดเลย จำกัด จับจองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ เป็นการครอบครองและยึดถือเพื่อตนโดยสุจริตและเปิดเผยเกินกว่า ๑๐ ปี คำขอท้ายคำฟ้องไม่อาจบังคับได้เนื่องจากที่ดินพิพาททางราชการเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยมีความมุ่งหมายในการฟ้องเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินก็เป็นการกระทำในฐานะผู้ถือสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเช่นเดียวกันกับเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงอื่น ๆ การคัดค้านดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ยังจำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีและคำขอท้าย คำฟ้องเป็นหลัก คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นส่วนราชการในสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เนื่องจากที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อ้างว่ามีสิทธิครอบครองทับซ้อนกับที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า เป็นการออกโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ส่วนที่ออกทับซ้อนกับที่ดิน น.ส. ๓ ก. กับห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ยุ่งเกี่ยวในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าออกคำสั่งและหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กรณีเป็นการฟ้องคดีโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ใช้อำนาจในการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ โดยไม่ชอบตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครอง หรือเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ มีสิทธิเข้าทำประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้าม ศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน
ศาลจังหวัดเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. รวม ๕ แปลง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองบางส่วนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ยื่นคำขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ตามคำฟ้องคดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะกล่าวอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. จำนวน ๕ แปลง แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอรังวัดออกโฉนดที่ดินได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้าน อ้างว่าที่ดินทั้งห้าแปลงได้ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ ก. ภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน ส.ป.ก. ๔-๐๑ รวม ๗ แปลง ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ ซึ่งการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งเก้าร่วมกันเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กับห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าไม้ถาวร ต่อมาในปี ๒๕๓๒ ได้มีมติจำแนกพื้นที่ออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ดินทำกินของราษฎรหรือเพื่อให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กำหนดให้พื้นที่ที่จำแนกมาเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี ๒๕๓๖ การจัดที่ดินและออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจขอออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทั้งเจ็ดฉบับได้ ที่ดินทั้งห้าแปลงที่ผู้ฟ้องคดีอ้างได้ออก น.ส. ๓ โดยอาศัยใบจองที่ออกในเขตป่าไม้ถาวร เป็นใบจองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย น.ส. ๓ ก. ทั้งห้าฉบับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ ให้การว่า การออก น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกภายหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งห้าแปลง ที่พิพาทเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เข้าจับจองทำประโยชน์เกินกว่า ๑๐ ปี เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และการจัดที่ดินดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๙ เข้าทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการยื่นคำขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ซึ่งเป็นเท็จ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุชาติ รุ่งพรชัย ที่ ๑ นางสาวเกตน์สิรี เจียรุ่งเรืองกิจ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ กับพวกรวม ๙ คน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share