คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว วรรคสอง ต้องเป็นผู้ที่เสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากการที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นโดยตรง
ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบกับมาตรา 36 (2) บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในกรณีอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีโดยให้ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพ ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของจำเลย ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งหนังสือโฟมที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยโดยตรงแต่อย่างใด อนุสิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบต่อการประกอบการเพื่อแสวงหาประโยชน์ในกิจการตามปกติของโจทก์ การซื้อหนังสือโฟมมาใช้เป็นของแถมแจกควบคู่ไปกับสินค้าอาหารเสริมของโจทก์ แม้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการขายสินค้าของโจทก์ แต่การแถมหรือแจกมิใช่การขายหนังสือโฟม และโจทก์ก็ไม่ได้ประกอบกิจการขายหนังสือโฟม การคงมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรของจำเลยย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทบต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์ในกิจการตามปกติของโจทก์โดยตรงอันจะถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าอนุสิทธิบัตรของจำเลยเลขที่ 794 เป็นอนุสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ และออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเสีย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยเลขที่ 794 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า วันที่ 23 เมษายน 2544 จำเลยยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรวิธีการเข้าเล่มหนังสือชนิด EVA FOAM ด้วยการร้อยเชือก และได้รับอนุสิทธิบัตรตามคำขอเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 โจทก์เป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพ โจทก์ว่าจ้างบริษัทเอ. บี. ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตสินค้าอาหารเสริมสำหรับเด็กและทารกเป็นข้าวธัญพืชผสมผักรวม ผลไม้รวม กล้วย ไก่ และปลา นำออกขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งนี้โดยโจทก์ได้ซื้อหนังสือโฟมสำหรับเด็กเพื่อเป็นของแถมแจกควบคู่กับสินค้าของโจทก์ ต่อมาจำเลยมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งบริษัทเอ. บี. ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ระงับการแจกของแถมดังกล่าวอันเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว วรรคสอง บัญญัติว่า ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นก็ได้ ซึ่งเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติถึงกรณีการกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรไว้โดยให้สิทธิบุคคลใดก็ได้มีสิทธิกล่าวอ้างได้ แต่กรณีถึงขนาดที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้น กฎหมายบัญญัติให้สิทธิเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น ดังนี้ในกรณีผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้ย่อมต้องเป็นผู้ที่เสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากการที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นโดยตรง
เมื่อพิจารณาในด้านสิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรซึ่งตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบกับมาตรา 36 (2) บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในกรณีอนุสิทธิบัตรกรรมวิธี โดยให้ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ย่อมเห็นได้ว่า เมื่อบทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิแก่ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรผู้เดียวในการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์จากอนุสิทธิบัตรจำกัดเพียงการกระทำดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 (2) ดังกล่าวเท่านั้น บุคคลอื่นที่ต้องเสื่อมเสียสิทธิในที่นี้ก็คือบุคคลที่จำเป็นต้องกระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นปกติ สำหรับกรณีของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของจำเลย ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งหนังสือโฟมที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยโดยตรงแต่อย่างใด อนุสิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบต่อการประกอบการเพื่อแสวงหาประโยชน์ในกิจการตามปกติของโจทก์ ส่วนกรณีที่โจทก์ซื้อหนังสือโฟมสำหรับเด็กมาใช้เป็นของแถมแจกควบคู่ไปกับสินค้าอาหารเสริมของโจทก์นั้น แม้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการขายสินค้าของโจทก์ก็ตาม แต่การแถมหรือแจกหนังสือโฟมนี้ก็มิใช่การขายหนังสือโฟม และโจทก์ก็ไม่ได้ประกอบกิจการขายหนังสือโฟมแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยหากจำเลยโต้แย้งการที่โจทก์แถมหรือแจกหนังสือโฟมโดยอ้างความเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธิต่อสู้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยตามมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 (2) ดังกล่าวได้อยู่แล้ว และโจทก์ก็ยังอยู่ในฐานะบุคคลใด ๆ ที่จะกล่าวอ้างว่าอนุสิทธิบัตรของจำเลยไม่สมบูรณ์ได้อีกด้วย ดังนี้การคงมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรของจำเลยย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทบต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์ในกิจการตามปกติของโจทก์โดยตรงอันจะถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลย ตามมาตรา 65 นว วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยโดยเห็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share