คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อนตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2)นั้น ขนาดของไม้ต้นหรือท่อนจะต้องมีขนาดใหญ่พอควร พอที่จะถือว่าเป็นไม้ต้นหรือไม้ท่อนได้ เมื่อคดีได้ความว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไม้มะพลับหรือไม้พลับจำนวน 11 ท่อน ปริมาตร 1.08 ลูกบาศก์เมตรไม้โมกมันจำนวน 52 ท่อน ปริมาตร 0.99 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตแม้จำนวนไม้ที่จำเลยทั้งห้ามีไว้ในครอบครองจะมีจำนวนรวมกันถึง63 ท่อน แต่ไม้ทั้งหมดมีปริมาตรรวมกันเพียง 2.07 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แสดงว่าไม้หวงห้ามดังกล่าวเป็นเศษไม้เล็กไม้น้อย อันมีลักษณะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่มีลักษณะเป็นต้นหรือท่อนตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง(2) จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งห้าตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ จำเลยทั้งห้าคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคแรกเท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 47, 48, 69, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 28 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505มาตรา 4 ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ริบไม้ของกลาง และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 7, 47, 48, 69, 73, 74, 74 จัตวาพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 28 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505มาตรา 4 ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 252มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 อายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 วางโทษฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาทฐานมีไม้ยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ปรับ5,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี ปรับ 10,000 บาท จำเลยที่1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ลงโทษฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานมีไม้ยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไว้คนละ 2 ปี ปรับคนละ20,000 บาท จำเลยทั้งห้าคนให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไว้คนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาทโทษจำคุกสำหรับจำเลยทุกคนให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ริบไม้ของกลางและจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษให้จำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 อายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 แล้ว วางโทษฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไม่ได้รับอนุญาตจำคุก2 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานมีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 10 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ลงโทษฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 5 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 8 เดือน เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ5 ปี 8 เดือน จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 5 เดือน และปรับ 5,000บาท คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี 10 เดือนโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษภายใน 2 ปี จำเลยนอกนั้นไม่รอการลงโทษจำคุกให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะไม้หวงห้ามดังกล่าวมีจำนวนถึง 63 ท่อนนั้น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 69 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปที่มีไว้ในครอบครองเป็น (1) … (2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแตห้าพันบาทถึงสองแสนบาท จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ได้บัญญัติถึงกรณีมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อนอยู่ในอนุมาตราเดียวกับกรณีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร แสดงให้เห็นว่า ในกรณีมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน ขนาดของไม้ต้นหรือท่อนนั้นจะต้องมีขนาดใหญ่พอควร พอที่จะถือว่าเป็นไม้ต้นหรือไม้ท่อนก็ได้ หากไม้หวงห้ามที่มีไว้ในครอบครองเป็นไม้เล็กไม้น้อยที่อาจจะมีลักษณะเป็นต้นหรือท่อนก็ไม่ถือว่าเป็นไม้ต้นหรือไม้ท่อนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวเพราะการมีเศษไม้หรือไม้เล็กไม้น้อยมีลักษณะเป็นชิ้นเท่านั้น คดีนี้ได้ความว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไม้มะพลับหรือไม้พลับจำนวน11 ท่อน ปริมาตร 1.08 ลูกบาศก์เมตร ไม้โมกมันจำนวน 52 ท่อน ปริมาตร0.99 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต แม้จำนวนไม้ที่จำเลยทั้งห้ามีไว้ในครอบครองจะมีจำนวนรวมกันถึง 63 ท่อน แต่ไม้ทั้งหมดมีปริมาตรรวมกันเพียง 2.07 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น แสดงว่าไม้หวงห้ามดังกล่าวเป็นเศษไม้เล็กไม้น้อย อันมีลักษณะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยดังกล่าวแล้วไม่มีลักษณะเป็นต้นหรือท่อนตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง(2) จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งห้าตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ จำเลยทั้งห้าคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคแรก อันมีบทลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share