คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลังได้เสียกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์อีก แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่ คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นซึ่งคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว ก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในคดีนี้จึงชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจาก ทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็น ผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้สมาคมฯ จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าวเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ร่วมประเวณีกันเกิดบุตรคือจำเลยที่ 2 และศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องไม่รับจำเลยที่ 2เป็นบุตรในคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำเหตุที่จำเลยที่ 1 ไปปรึกษาข้อกฎหมายกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพราะโจทก์ไม่ยอมอุปการะเลี้ยงดูจำเลยทั้งสองและโจทก์ดำเนินคดีฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 กับฟ้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะมาแล้วถึง 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 ยังรักและห่วงใยโจทก์ไม่ต้องการหย่ากับโจทก์ แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 และเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิเบิกเงินช่วยเหลือบุตรจากทางราชการขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2นับแต่แรกเกิดจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 200,000 บาท กับจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 อีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะ และให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และอีกเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะกับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522จำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2523 ระหว่างที่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์และศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างข้อเท็จจริงใหม่ที่จะพิสูจน์ตามหลักทางแพทย์ คือระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ. เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปโดยถูกต้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่ โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม2538 เพื่อประกอบการนำสืบในข้อดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มีอยู่และต้องนำสืบเพื่อประโยชน์ของโจทก์โจทก์เพิ่งทราบเมื่อศาลชี้สองสถานแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ นั้นเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลงได้เสียกับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2มิใช่บุตรโจทก์นั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่3471/2526 ของศาลฎีกา ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 2เป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ.เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่ ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526ของศาลฎีกา ซึ่งได้รับการวินิจฉัยมาแล้วในคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ของศาลฎีกาดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ดังนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 1ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นการประพฤติชั่วทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงถูกดูถูกเกลียดชังเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ นั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์ เพราะประสงค์จะได้เงินเดือนโจทก์ครึ่งหนึ่ง และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยที่ 2ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรซึ่งรองศาสตราจารย์วิมลศิริ ชำนาญเวช นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 12 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปภัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็นผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าวเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย ซึ่งสืบเนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หาได้เป็นประการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ไม่
พิพากษายืน

Share