แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาหากครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว แม้โจทก์จะอ้างบทกฎหมายอันเป็นการอ้างกฎหมายที่มิได้ใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยคดี ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการปรับบทกฎหมายเพื่อให้ตรงตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ คดีนี้ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องโดยเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ เป็นการพิพากษาที่ถูกต้องตามบทกฎหมายที่อ้างถึงข้างต้นแล้ว จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ อ้างเหตุโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งไม่เป็นความจริง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ได้สืบสวนสอบสวนแล้ว เห็นว่าโจทก์ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และนับอายุงานต่อเนื่องให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๒๔,๕๒๐ บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่อาจรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ๕๘๕,๒๐๐ บาท เงินสงเคราะห์ครั้งเดียว ๙๘๐,๘๐๐ บาท ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค้าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เป็นเงิน ๑๔๗,๑๒๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๔,๕๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบของจำเลยเกี่ยวกับการเบิกเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พัก คณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งขึ้นได้สอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์เบิกเบี้ยเลี้ยงเท็จ มีความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงาน ไม่ได้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวโจทก์มีสิทธิได้รับเพียง ๘๕๘,๒๐๐ บาท เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องยื่นคำขอรับเงินดังกล่าวแต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอแต่อย่างใด โจทก์ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักพนักงานของจำเลย ไม่ได้ออกไปภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเลิกจ้าง ต้องเสียค่าเช่าเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท จำเลยขออายัดเงินจำนวนดังกล่าวร้อยละ ๒๐ เพื่อชดใช้ค่าเช่าบ้านพัก จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เหตุที่โจทก์ถูกเลิกจ้างเป็นเพราะทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ และเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน ๑,๗๓๗,๖๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว แม้โจทก์จะอ้างบทกฎหมายประกอบมาด้วยว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน อันเป็นการอ้างบทกฎหมายที่มิได้ใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยคดี ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการปรับบทกฎหมายเพื่อให้ตรงตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑(๑) และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันเป็นเงิน ๑๔๗,๑๒๐ บาท นั้น เป็นการพิพากษาที่ถูกต้องตามบทกฎหมายที่อ้างถึงข้างต้นแล้วจึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากจำเลยจำนวนเท่าใด เห็นว่า การคำนวณอายุงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวที่กำหนดให้คำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำเหน็จข้าราชการ โดยต้องคำนวณถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เท่านั้น จะคำนวณถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุมิได้ เนื่องจากโจทก์มิได้ทำงานอยู่จนถึงเกษียณอายุ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียว เป็นเงิน ๘๕๘,๒๐๐ บาท อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวร้อยละ ๒๐ เพื่อชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่ยอมออกจากบ้านพักของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงมิใช่ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องออกจากงานเพราะกระทำความผิดซึ่งต้องออกจากบ้านพักภายในกำหนด๓๐ วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่ง ตามคำสั่งทั่วไป เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ผู้ปฏิบัติงานออกจากบ้านพักหรือบริเวณบ้านพักของการรถไฟฯ จำเลยจึงไม่อาจหักเงินจำนวนร้อยละ ๒๐ ของเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน ๑,๖๑๕,๐๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่ฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
นายอนันต์ ชุมวิสูตร ผู้ช่วยฯ
น.ส.จันทนา บารมีอวยชัย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯตรวจ