คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2ไปรับจ้างผู้โดยสารเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ส่วนที่มีกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 22(พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ข้อ 5(8)บัญญัติว่า ต้องไม่นำรถยนต์รับจ้างของบริษัทจำกัด ไปให้บุคคลอื่นยืมเช่า หรือเช่าซื้อ เว้นแต่ให้เช่าเพื่อประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารนั้นกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวก็มีไว้ใช้บังคับแก่บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์รับจ้าง ไม่ได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป และไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่จะบังคับให้ผู้เช่ารถยนต์ของบริษัทต้องกลายเป็นลูกจ้างของบริษัท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน5ง-4792 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ท-6542 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน1ท-6542 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างหรือมอบหมายสั่งการจากจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทฝ่าสัญญาณไฟสีแดง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ง-4792 กรุงเทพมหานครเสียหายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการและผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิด โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 24,100 บาท แก่ผู้เอาประกันภัยจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ก่อนพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ออกจากสารบบความเพราะโจทก์ถอนฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่เป็นผู้เช่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 รับจ้างผู้โดยสารเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายนั้นด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ง-4792 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 1ท-6542 กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 1 นำรถยนต์แท็กซี่ของจำเลยที่ 2 ไปรับจ้างหาผลประโยชน์แล้วขับชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ง-4792 กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทโจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 24,100 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว…
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น โจทก์มีพยานบุคคลคือนายสมนึก ม่วงศรีปากเดียวมาเบิกความว่า พยานเป็นลูกจ้างของโจทก์ เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ พยานได้รับแจ้งเหตุแล้วได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุพบคนขับรถทั้งสองฝ่าย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถแท็กซี่คันที่เกิดเหตุคดีนี้บอกกับพยานว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน จึงเป็นคำเบิกความลอย ๆ ทั้งเป็นเพียงพยานบอกเล่าจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟังส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การต่อสู้คดีและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์แท็กซี่ของจำเลยที่ 2 นั้นนอกจากจำเลยที่ 2 จะมาเบิกความว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบให้นายเชิดศักดิ์ เจริญกิจวิวัฒน์พี่ชายจำเลยที่ 2 นำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุคดีนี้ไปดำเนินการให้เช่าแล้วนายเชิดศักดิ์ เจริญกิจวิวัฒน์ พี่ชายจำเลยที่ 2ก็มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และเบิกความด้วยว่าพยานเป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 1 เช่า โดยทำสัญญาเช่ากันไว้ ตามเอกสารหมาย ล.4 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้มาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุจากนายเชิดศักดิ์ในอัตราค่าเช่าวันละ 250 บาทโดยมีสัญญาเช่าต่อกันตามเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่า แม้เอกสารหมายล.4 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เพราะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็ตาม คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายเชิดศักดิ์ ก็สอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าคำเบิกความของนายสมนึกนอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่คันที่เกิดเหตุมอบหมายให้พี่ชายของตนเป็นผู้ดูแลและจัดการให้เช่ารถคันดังกล่าวโดยไม่ได้นำไปเข้าวิ่งในนามของบริษัทใดหรือนิติบุคคลใดจำเลยที่ 2จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้รับผิดชอบต่อรถยนต์แท็กซี่ของตนเองทั้งหมด ดังนั้น หากมีทางเลือกระหว่างการนำรถยนต์แท็กซี่ของตนให้ผู้อื่นเช่าขับขี่รถรับจ้างผู้โดยสารเป็นรายวัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่ผู้เช่าไปก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก กับการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างคนอื่นมาเป็นลูกจ้างขับรถยนต์แท็กซี่ของตนเพื่อออกรับจ้างผู้โดยสาร ซึ่งจำเลยที่ 2 มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าจ้างกันเป็นรายเดือน แล้วยังจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในการทำละเมิดของลูกจ้างในฐานะที่เป็นนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วยแล้ว คงไม่มีผู้ใดเลือกปฏิบัติในประการหลังนี้จากเหตุผลดังกล่าวประกอบคำเบิกความพยานจำเลยที่มีน้ำหนักดีกว่าดังที่ได้วินิจฉัยแล้วน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์แท็กซี่ของจำเลยที่ 2มิใช่เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า มีประกาศกระทรวง (ที่ถูกเป็นกฎกระทรวง) มหาดไทยฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 ข้อ 3(8) (ที่ถูกเป็นข้อ 5(8) ที่บัญญัติว่า “ต้องไม่นำรถยนต์รับจ้างของบริษัทจำกัดไปให้บุคคลอื่นยืม เช่า หรือเช่าซื้อเว้นแต่ให้เช่าเพื่อประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร” จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า กฎกระทรวงฉบับที่โจทก์อ้างนั้นมีไว้ใช้บังคับแก่บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์รับจ้าง ไม่ได้เข้าบังคับแก่บุคคลทั่วไป และไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่จะบังคับให้ผู้เช่ารถยนต์ของบริษัทต้องกลายเป็นลูกจ้างของบริษัทแต่อย่างใดศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share