แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยจำเลยต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาภายใน15วันนับแต่วันฟังคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา224แต่ตามคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยกลับขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงถือได้ว่าจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาผลคือคดีย่อมยุติลงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องยื่นเสียก่อนพ้นระยะเวลายื่นฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 210 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 210 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษในหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือนริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 13 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาวันที่ 14พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันครบกำหนดยื่นฎีกา โดยปรากฎว่าวันที่ 13เดือนเดียวกันตรงกับวันอาทิตย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา แต่เนื้อหาในคำร้องฉบับนี้เป็นเรื่องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่อาจสอบถามทนายจำเลยที่ 1 ได้ว่า จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาหรือจะขอให้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงให้โอกาสจำเลยที่ 1 ดำเนินการภายใน 10 วัน ว่าจะดำเนินการอย่างไรมิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคำร้อง ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2537จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยื่นฎีกามาประกอบการพิจารณาว่าจะรับรองให้ฎีกาหรือไม่ก่อน ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2537จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและขอคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 โดยขอให้ศาลฎีการับฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1ต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาภายใน 15 วัน นับแต่วันฟ้องคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224แต่ปรากฎว่าตามคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว กลับขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา ผลคือคดีย่อมยุติลงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ส่วนการที่จะขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น จะต้องยื่นเสียก่อนพ้นระยะเวลายื่นฎีกา การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาก็ดี อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริงโดยสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็ดี ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้วทั้งสิ้น จึงไม่อาจทำได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1นั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1