แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 5 มิได้มีเจตนาร่วมลักทรัพย์ แต่ขับรถยนต์กระบะเข้ามาจอดตรงบริเวณที่มีลูกปาล์มซึ่งจำเลยอื่นได้ลักตัดจากต้นปาล์มของผู้เสียหายนำมากองไว้ โดยจำเลยที่ 5 ได้นัดหมายกับจำเลยอื่นไว้ก่อนแล้วว่าจะมาขนลูกปาล์มไปหลังจากจำเลยอื่นลักทรัพย์เสร็จสิ้นแล้วนั้น เท่ากับว่าจำเลยที่ 5 ได้ตกลงช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยอื่นกระทำความผิดไว้ตั้งแต่ก่อนกระทำความผิดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 5เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยอื่น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันลักเอาลูกปาล์มหนัก ๒,๔๔๕ กิโลกรัม ราคา ๔,๔๑๖ บาทของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และมีอาชีพกสิกรรมไปโดยสุจริต โดยใช้รถกะบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและการพาทรัพย์นั้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๓ คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนของกลางอื่นให้ริบ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๓๖ ทวิ, ๘๓ จำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๕ มีความผิดตามมาตรา ๓๕๗ ประกอบด้วย มาตรา ๘๐ จำคุก ๒ ปี จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ รับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ คนละ ๒ ปี จำคุกจำเลยที่ ๕ มีกำหนด ๑ ปี ๔ เดือน ริบของกลาง ส่วนคำขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของนั้น ไม่ปรากฏว่ารถยนต์ของกลางเป็นของผู้ใดและเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดอย่างไร จึงให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕ วรรคสอง (ที่ถูกวรรคสาม) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๑ จำคุกคนละ ๒ ปี คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๑ ปี ๔ เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๕ คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ของกลางอื่นคงให้ริบ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๕ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๕ มีความผิดฐานพยายามรับของโจรหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ ๕ ได้ขับรถยนต์กระบะของกลางเข้ามาจอดในที่เกิดเหตุ บริเวณที่มีลูกปาล์มซึ่งจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ลักตัดจากต้นปาล์มของผู้เสียหายนำมากองไว้ จึงถูกตำรวจจับกุมตัวมาดำเนินคดีนี้ โจทก์มีสิบตำรวจโทสมชาติ โยธา สิบตำรวจเอกไพโรจน์ แก้วช่วย และร้อยตำรวจตรีจรูญ คงธรรม ซึ่งร่วมจับกุมจำเลยที่ ๕ ด้วย เป็นพยานต่างเบิกความตรงกันว่า จำเลยที่ ๕ รับสารภาพในชั้นจับกุม ได้ทำบันทึกการจับกุมไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๗ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๕ ขับรถยนต์กระบะซึ่งเป็นรถสำหรับบรรทุกของเข้ามาในที่เกิดเหตุในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ลักตัดเอาลูกปาล์มของผู้เสียหาย และจำเลยที่ ๕ มาจอดรถตรงบริเวณที่ลูกปาล์มซึ่งถูกตัดเอามากองไว้เช่นนั้นเป็นพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ ๕ กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้นัดแนะกันไว้ก่อนแล้วให้จำเลยที่ ๕ มาขนเอาลูกปาล์มเหล่านั้นไป จำเลยที่ ๕ เบิกความตอนต้นว่าขับรถเข้าไปตามหาจำเลยที่ ๔ แต่ตอนต่อมากลับเบิกความว่า เมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ ๕ บอกตำรวจว่าเข้ามาตามหาคนงานของตนจึงเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังแก้ตัวได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.๗ ซึ่งจำเลยที่ ๕ ได้ลงลายมือชื่อไว้ ปรากฏมีข้อความว่าจำเลยทุกคนซึ่งหมายรวมทั้งจำเลยที่ ๕ ให้ถ้อยคำรับสารภาพข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๕ ขับรถยนต์กระบะของกลางมายังที่เกิดเหตุเพื่อจะบรรทุกลูกปาล์มที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ลักเอาของผู้เสียหายมา ข้อเท็จจริงไม่ได้ความชัดว่าจำเลยที่ ๕ มีเจตนาร่วมลักทรัพย์กับจำเลยอื่นโดยแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่จำเลยที่ ๕ ได้นัดหมายกับจำเลยอื่นไว้ก่อนแล้วว่า จำเลยที่ ๕ จะมาขนลูกปาล์มไปหลังจากจำเลยอื่นลักทรัพย์เสร็จสิ้นแล้วนั้น เท่ากับว่าจำเลยที่ ๕ ได้ตกลงช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยอื่นกระทำความผิดไว้ตั้งแต่ก่อนกระทำความผิดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ ๕ เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำฐานลักทรัพย์ของจำเลยอื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๕ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และแม้ฎีกาโจทก์จะมิได้ขอให้ลงโทษในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๕ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน จำเลยที่ ๕ รับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๐ เดือน ๒๐ วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์