คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้อง ศาลฎีกาจะได้พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงแล้วจำเลยทั้งสองก็อาจมีความเห็นว่า โจทก์ยังมีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัย และใช้ดุลพินิจเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีโดยมีพยานหลักฐานปรากฏตามสำนวนการสอบสวน จนเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์พักราชการและปลดโจทก์ออกจากราชการ การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจน้ำจำเลยที่ 2 ได้แกล้งกล่าวหาโจทก์ว่า โจทก์ทำหลักฐานเท็จ ขอรับเงินสินบนนำจับสินค้าหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรเพราะไม่มีสายลับแจ้งความนำจับ และรายงานให้จำเลยที่ 1 สอบสวนโจทก์ทางวินัย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งพักราชการโจทก์และปลดโจทก์ออกราชการตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2517 และยังได้สั่งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์อีกด้วย โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ลงโทษทางวินัยต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ระหว่างที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ซึ่งรับเรื่องต่อจาก ก.พ.กำลังพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์อยู่นั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ได้แจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาให้ ก.ต. ทราบเพื่อจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ไปในทางที่ไม่ชอบโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อฝ่าฝืนข้อเท็จจริงและขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลฎีกา โดยยังถือข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาเดิมว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โจทก์ได้ รับความเสียหายไม่ได้รับเงินเดือนและบำนาญไปจนถึงอายุ 85 ปี และความเสียหายต่อชื่อเสียเกียรติคุณของโจทก์ คิดเป็นเงิน 12 ล้านบาท ขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1ที่ให้พักราชการโจทก์และปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 16,113,774.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,576,539.33 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยมิได้กระทำการใดให้โจทก์เสียหายดังฟ้อง หากแต่เกิดจากโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องเพราะโจทก์ถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งของ รัฐบาล ตามอำนาจของฝ่ายบริหารขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 1758/2523 ว่า นางอำไพอินทาปัจ เป็นผู้แจ้งความนำจับ หลักฐานที่โจทก์มีถึงอธิบดีกรมศุลกากรรับรองว่ามีผู้แจ้งความนำจับ ตลอดจนการขอรับเงินสินบนนำจับในฐานะผู้รับมอบฉันทะแทนผู้แจ้งความนำจับไม่ใช่ความเท็จและไม่ใช่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกงกรมศุลกากร โจทก์มิได้กระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหา พิพากษายกฟ้อง ขณะที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดคดีอาญาดังกล่าวนั้น คดีทางวินัยยังอยู่ระหว่างที่จำเลยทั้งสองพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไปให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว จำเลยทั้งสองคงมีความเห็นว่าพฤติการณ์และการกระทำของโจทก์อาจมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วยโจทก์จึงยังมีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน จำเลยทั้งสองได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์การที่จำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจว่า โจทก์ยังมีมลทินมัวหมอง เป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2523 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำที่จงใจละเมิดต่อโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย กรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยพันตำรวจโททัศน์ อินทาปัจ ผู้จับสินค้าหลบหนีภาษีให้การว่า การจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้ไม่มีสายลับแจ้งความนำจับแต่อย่างใด นางอำไพ อินทาปัจ ภรรยาของพันตำรวจโททัศน์ ให้การว่านางอำไพ ไม่เคยเป็นสายลับแจ้งความนำจับเลยจ่าสิบตำรวจสมบูรณ์ หีบท่าไม้ จ่าสิบตำรวจม้วน เมฆบริสุทธิ์ และพลตำรวจเสถียร ศรีสว่าง ผู้ร่วมจับกุมให้การตรงกันว่าการจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้เป็นการจับกุมโดยบังเอิญ ไม่มีสายลับแจ้งความนำจับ พยานทุกปากได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือได้ ประกอบกับรูปคดีมีพิรุธไม่นาเชื่อว่าภรรยาของผู้จับกุมจะเป็นสายลับแจ้งความนำจับเสียเองแม้คดีอาญาศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องคณะกรรมการสอบสวนและจำเลยทั้งสองก็อาจมีความเห็นว่า โจทก์ยังมีมลทินมัวหมองตามความเห็นเดิมได้ การที่จำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีก็โดยมีพยานหลักฐานปรากฏตามสำนวนการสอบสวน การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน.

Share