คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจับกุมผู้กระทำความผิดที่ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก่อนตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ต้องเป็นการจับกุมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 6 หรือมาตรา 8 แล้วแต่กรณี เมื่อจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยตนเอง ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 6 หรือมาตรา 8 ดังกล่าว การจับกุมจำเลยจึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งคดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗ (๕), ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๕ ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปีลดโทษให้หนึ่งในสามตาม คงจำคุก ๖ ปี ๘ เดือน ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ก่อนการจับจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๔ การจับจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การจับกุมผู้กระทำความผิดที่ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก่อนตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ นั้น ต้องเป็นการจับกุมผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖หรือมาตรา ๘ แล้วแต่กรณี เมื่อจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยตนเอง ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ดังกล่าว การจับกุมจำเลยจึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดังที่จำเลยฎีกา ทั้งคดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share