คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ ส. เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบโดยขุดหาคานคอนกรีตเดิมซึ่งเป็นเขตที่ดินที่มีการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย หากพบว่าคานเป็นเส้นตรงและกำแพงตั้งบนคานตรงกับคานที่วัด โจทก์ยอมรับว่าเป็นแนวเขตที่ดินของจำเลย แต่หากพบว่าคานโค้งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จำเลยยินยอมรื้อถอนกำแพงที่สร้างใหม่ออกไปทั้งหมด ส. นำช่างแผนที่ออกไปตรวจสอบแล้ว การที่ ส. ให้ความเห็นว่า “สันนิษฐานว่าในเมื่อกำแพงโค้งคานน่าจะโค้งตามกำแพง” นั้น เกิดจากข้อเท็จจริงที่พบเห็นจากพยานหลักฐานในขณะทำการรังวัดเท่านั้นมิใช่เป็นการคาดคะเนของ ส. ดังนั้น เมื่อ ส. ตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่ากำแพงตั้งอยู่บนคานเดิมตลอดแนว กำแพงโค้งตามคาน จึงทำให้กำแพงและคานตามรูปแผนที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตรงตามคำท้าแล้ว จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1483 เลขที่ดิน 23 ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ซึ่งมีเขตที่ดินติดต่อกัน เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2537 จำเลยก่อสร้างกำแพงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ทางด้านทิศเหนือยาวตลอดแนวของที่ดินและรุกล้ำเข้ามากว้างสุดประมาณ 10 นิ้ว โดยไม่สุจริต โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง ถ้าจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2531 จำเลยรื้อที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินโจทก์ หลังจากนั้นประมาณเดือนเศษจำเลยก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตที่ดินที่โจทก์ชี้ตามที่แบ่งขายหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อปลายปี 2535 จำเลยก่อสร้างกำแพงให้สูงขึ้นตามแนวเดิมโดยไม่ได้สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ขอให้นายสุนทร จันทร์ผ่อง เจ้าพนักงานที่ดินเป็นคนกลางในการตรวจสอบโดยจะขุดหาคานคอนกรีตเดิมซึ่งเป็นเขตที่ดินที่มีการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาแบ่งขายที่ดิน ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2531 หากพบว่าคานเป็นเส้นตรงและกำแพงที่ตั้งบนคานตรงกับคานที่วัด โจทก์ยอมรับว่าเป็นแนวเขตที่ดินของจำเลยและโจทก์จะดำเนินการถอนฟ้องจำเลย แต่หากพบว่าคานโค้งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จำเลยยินยอมรื้อกำแพงที่สร้างใหม่ออกไปทั้งหมด โจทก์จึงจะดำเนินการถอนฟ้อง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานที่ดิน หากฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้ชำระ ทั้งนี้โจทก์และจำเลยตกลงสละประเด็นในคำฟ้องและคำให้การทั้งหมด โดยถือตามที่ตกลงกัน
วันตรวจสอบที่ดินพิพาทมีโจทก์และจำเลยนำชี้ นายสุนทร จันทร์ผ่อง ทำการตรวจสอบแล้วปรากฏว่ากำแพงตั้งอยู่บนคานเดิมตลอดแนว กำแพงโค้งตามคานจึงทำให้กำแพงและคานตามรูปแผนที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ตามหนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลชั้นต้นจึงให้จำเลยรื้อกำแพงดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2544 แต่จำเลยมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ เว้นแต่ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่โจทก์ทดรองออกไปให้จำเลยใช้คืนแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้นายสุนทร จันทร์ผ่อง เจ้าพนักงานที่ดินเป็นคนกลางในการตรวจสอบที่ดิน โดยจะขุดหาคานคอนกรีตเดิมซึ่งเป็นเขตที่ดินที่มีการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาแบ่งขายที่ดินลงวันที่ 25 ตุลาคม 2531 หากพบว่าคานเป็นเส้นตรงและกำแพงที่ตั้งบนคานตรงกับคานที่วัด โจทก์ยอมรับว่าเป็นแนวเขตที่ดินของจำเลย และโจทก์จะดำเนินการถอนฟ้องจำเลย แต่หากพบว่าคานโค้งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์จำเลยยอมรื้อกำแพงที่สร้างใหม่ออกไปทั้งหมด โจทก์จึงจะดำเนินการถอนฟ้อง ต่อมานายสุนทร โจทก์และจำเลยร่วมกันนำช่างแผนที่ทำการตรวจสอบแล้ว นายสุนทรทำบันทึกถ้อยคำระบุว่ากำแพงตั้งอยู่บนคานเดิมตลอดแนว สันนิษฐานว่าในเมื่อกำแพงโค้ง คานน่าจะโค้งตามกำแพลงตามรูปแผนที่ที่โจทก์และจำเลยนำชี้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาของสาลล่างทั้งสองตรงตามคำท้าที่โจทก์และจำเลยตกลงกันหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สาระสำคัญของข้อตกลงในการตรวจสอบแนวเขตที่ดินพิพาท นายสุนทรจะต้องทำการขุดหาคานคอนกรีตซึ่งเป็นแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเสียก่อนว่าคานตรงหรือโค้ง ข้อความในบันทึกถ้อยคำของนายสุนทรที่ว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันนำช่างแผนที่ทำการตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่ากำแพงตั้งอยู่บนคานเดิมตลอดแนวนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่าคานเดิมซึ่งกำแพงตั้งอยู่นั้นตรงหรือโค้ง นายสุนทรไม่ได้ขุดหาคานคอนกรีต เพียงแต่ตรวจดูกำแพงด้วยสายตาเท่านั้น แล้วสันนิษฐานเอาว่ากำแพงโค้งคานน่าจะโค้งตามกำแพง ซึ่งเป็นการคาดคะเนของนายสุนทร จำเลยยังไม่ได้ตรวจรับรองความถูกต้องของแผนที่พิพาท บันทึกถ้อยคำและแผนที่พิพาทที่นายสุนทรจัดทำขึ้นไม่ถูกต้องตามข้อตกลงของโจทก์จำเลยและไม่มีผลผูกพันใช้บังคับได้ ศาลล่างทั้งสองจึงมิอาจนำบันทึกและแผนที่พิพาทดังกล่าวมาพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้น เห็นว่า ในวันที่นายสุนทรกับช่างแผนที่ออกไปตรวจสอบที่ดินพิพาทมีโจทก์และจำเลยเป็นผู้นำชี้ หากนายสุนทรไม่ดำเนินการตรวจสอบให้ถูกต้องตามข้อตกลงโดยไม่ขุดหาคานคอนกรีตเดิมจำเลยก็ควรจะทักท้วงหรือคัดค้านเสียในขณะนั้น แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ทั้งยังลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องในบันทึกถ้อยคำของนายสุนทรอีกด้วย ดังนั้น แม้ในบันทึกถ้อยคำของนายสุนทรจะไม่มีข้อความระบุว่าตรวจสอบโดยการขุดหาคานคอนกรีตเดิมก็ตาม ก็เชื่อว่านายสุนทรได้ดำเนินการตรวจสอบตามข้อตกลงของโจทก์และจำเลยแล้ว และเมื่อพิจารณาแผนที่พิพาทเอกสารท้ายหนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 ในสำนวนจะเห็นว่า แผนที่พิพาทดังกล่าวมีการระบุมาตราไว้ในแผ่นแรก ส่วนแผนที่พิพาทแผ่นที่สอง นายสุนทรซึ่งเป็นผู้ทำการรังวัดและจำลองแผนที่พิพาทได้ระบุรายละเอียดและเขียนอธิบายไว้อย่างชัดเจน บุคคลทั่วไปเมื่ออ่านดูแล้วย่อมเข้าใจได้เชื่อว่านายสุนทรจัดทำแผนที่พิพาทดังกล่าวไปตามหลักวิชาการในการทำแผนที่ นอกจากนี้ วันที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จำเลยแถลงต่อศาลแต่เพียงว่าเหตุที่ยังไม่ได้รื้อรั้วพิพาทเนื่องจากไม่ทราบคำสั่งศาลเท่านั้น จำเลยมิได้คัดค้านว่าบันทึกถ้อยคำของนายสุนทรและแผนที่พิพาทไม่ถูกต้องตามข้อตกลงแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยยอมรับความถูกต้องของบันทึกถ้อยคำและแผนที่พิพาทที่นายสุนทรจัดทำขึ้นและตรงตามคำท้าของโจทก์และจำเลยที่ตกลงกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ส่วนการที่นายสุนทรให้ความเห็นว่า “สันนิษฐานว่าในเมื่อกำแพงโค้งคานน่าจะโค้งตามกำแพง” นั้น เป็นเพราะความเห็นที่ให้นั้นเกิดจากข้อเท็จจริงที่พบเห็นจากพยานหลักฐานในขณะทำการรังวัดเท่านั้นหาใช่เป็นการคาดคะเนของนายสุนทรแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อนายสุนทรตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่ากำแพงตั้งอยู่บนคานเดิมตลอดแนว กำแพงโค้งตามคาน จึงทำให้กำแพงและคานตามรูปแผนที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share