คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลจึงพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาอาจขอให้พิจารณาใหม่ภายใต้บังคับตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในคดีนี้เป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับคำบังคับโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2540 การส่งคำบังคับดังกล่าวจึงมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำบังคับในวันที่ 24 มีนาคม 2540 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันดังกล่าว ดังนั้น คดีของจำเลยทั้งสองจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 8 เมษายน 2540 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-9364 นครศรีธรรมราช ที่เช่าซื้อไปคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี ถ้าไม่ส่งมอบคืนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 177,178 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 129,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 460 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีนี้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะล่วงเลยกำหนดเวลาในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์บังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้ คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งและมาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ดังนั้นวันมีคำพิพากษาตามมาตรา 271 ดังกล่าวย่อมหมายถึงวันมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลจึงพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาขอให้พิจารณาใหม่ภายใต้บังคับตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในคดีนี้เป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้สิ้นสุดลง คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองได้รับคำบังคับโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2540 การส่งคำบังคับดังกล่าวจึงมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำบังคับในวันที่ 24 มีนาคม 2540 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันดังกล่าว ดังนั้น คดีของจำเลยทั้งสองจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 8 เมษายน 2540 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share