คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308-309/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เล่นแชร์กับจำเลยซึ่งเป็นนายวงและบรรยายถึงวิธีเล่นแชร์ไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แชร์แต่ละวงมีผู้เล่นกี่คน เป็นเงินวงละเท่าใด ส่งเงินไปแล้วเท่าใดดังนี้ ฟ้องโจทก์ชัดแจ้งพอที่จำเลยจะแก้ข้อหาได้แล้วไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าแชร์แต่ละวงมีใครบ้าง เพราะผู้เล่นแชร์เหล่านั้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
การเล่นแชร์เปียหวยหาได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แม้ตกลงกันด้วยวาจาก็ฟ้องร้องบังคับกันได้
โจทก์กับพวกร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รับต่อหน้าผู้บังคับบัญชาว่าจะพยายามหาทางผ่อนชำระหนี้ที่จำเลยที่1 ก่อขึ้นดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันในหนี้นี้แล้ว การให้สัตยาบันกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ
หนี้อันเกิดจากการเล่นแชร์เปียหวย เมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ย่อมเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันผิดนัด

ย่อยาว

คดีสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมา

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นแชร์เปียหวย โดยจำเลยที่ 1 เป็นนายวงทำใบยืมตามจำนวนเงินหุ้นแชร์ให้แก่ลูกวง ได้เปียหวยเดือนละครั้งโดยลูกวงส่งเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อส่งแก่ผู้ประมูลได้ โจทก์ทั้งสองสำนวนเข้าเล่นแชร์กับจำเลยที่ 1 โดยเป็นลูกวงพร้อมผู้อื่นอีกหลายคน ครั้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2504 แชร์ที่จำเลยที่ 1 เป็นนายวง เลิกล้มทุกวงเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จ่ายเงินแก่ลูกวงผู้ประมูลได้ โจทก์ทั้งสองทวงถามจำเลยทั้ง 2 เพิกเฉยโจทก์กับพวกเจ้าหนี้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าหนี้สินที่ร้องเรียนเป็นความจริง ฯลฯ

ในสำนวนที่นางแฉล้มเป็นโจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันส่งเงินตามสัญญาใบยืม รวม 21,900 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอีก 3,531 บาท 35 สตางค์ และให้เสียดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จ

ในสำนวนที่นางอัมพรเป็นโจทก์ มีคำขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งเงินตามสัญญาใบยืม รวม 35,100 บาท กับดอกเบี้ย6,384 บาท 90 สตางค์ และให้เสียดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เงินที่จำเลยที่ 1 ทำใบยืมให้แก่ผู้ไม่ประมูลนั้น จำนวนเงินไม่จริงตามใบยืม แชร์วงที่นางแฉล้มเป็นโจทก์นั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เพียง 2,200 บาทในสำนวนที่นางอัมพรเป็นโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ครั้งแรก 4 วง เป็นเงิน 4,000 บาทเท่านั้น และว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฯลฯ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนี้สินการเล่นแชร์เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินตามสัญญาใบยืมรวม 21,900 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 3,531.31 บาท กับให้เสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงิน 21,900 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่นางแฉล้ม สายยะวงศ์โจทก์ และชำระเงินตามสัญญาใบยืม 35,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 6,384.90 บาท กับให้เสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวน 35,100 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้นางอัมพร สิริสิงห์ โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเล่นแชร์กับจำเลยซึ่งเป็นนายวงและบรรยายถึงวิธีการเล่นแชร์ไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าแชร์แต่ละวงมีผู้เล่นกี่คน เป็นเงินวงละเท่าใด และส่งเงินไปแล้วเท่าใด ชัดแจ้งพอที่จำเลยจะแก้ข้อกล่าวหาได้แล้วไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าแชร์แต่ละวงมีใครบ้าง เพราะผู้เล่นแชร์เหล่านั้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้เข้าเล่นแชร์กับจำเลยโดยจำเลยเป็นนายวง และเป็นการตกลงโดยปริยายว่าโจทก์ต้องรับผิดเรื่องเงินแชร์รายนี้ต่อผู้เล่นทุกคน ที่จำเลยฎีกาว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยถ้ามีจริงก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะบังคับกันได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การเล่นแชร์เปียหวยหาได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะตกลงกันด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ก็ฟ้องร้องบังคับกันได้

ในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์กับพวกร้องเรียนต่อพลเอกหลวงสุรณรงค์ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับต่อหน้าพลเอกหลวงสุรณรงค์ว่าจะพยายามหาทางผ่อนชำระหนี้ให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ดังนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันในหนี้จำนวนนี้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 การให้สัตยาบันกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ

จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลล่างบังคับให้จำเลยเสียดอกเบี้ยให้โจทก์นั้น ไม่ถูกเพราะไม่ใช่หนี้เรื่องเงินกู้ เป็นเงินยืมและเงินยืมตามการเล่นแชร์นั้นก็มีเพียงจะคืนเงินตามใบยืมเท่านั้นศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า หนี้นี้ไม่ใช่เรื่องเงินยืมกันตามธรรมดาแต่เป็นเรื่องของการเล่นแชร์เปียหวย เมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ก็ย่อมเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันผิดนัด

พิพากษายืน

Share