แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่ความตกลงท้ากันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาในคดีที่ ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. และโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยร่วมกันขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท หากผลคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร ให้ถือตามผลคดีนั้น คู่ความมิได้ตกลงกันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นข้อวินิจฉัยตามคำท้า คำท้าดังกล่าวต้องถือว่าคู่ความมีเจตนาถือเอาผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเป็นข้อวินิจฉัยในประเด็นที่ได้ท้ากัน เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าในคดีที่ท้ากันศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยชอบ ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตรงตามคำท้าที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 โจทก์ทั้งสองและจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำท้าที่ตกลงกันตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์ทั้งสองย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 90368 และ 90369 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 106,666.66 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบคืนโจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 90368 และ 90369 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองและส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 30,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองและค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มิถุนายน 2556) จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปและส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายสุรชัย สามีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90368 และ 90369 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แล้วผิดนัดชำระหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ฟ้องนายสุรชัยกับพวกให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นายสุรชัยกับพวกร่วมกันชำระหนี้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด วันที่ 26 กันยายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดตามมาตรา 76 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 แต่ไม่มีผู้ซื้อ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจึงรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองเป็นของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว นายสุรชัยฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5515/2549 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและให้โอนกลับคืนมาเป็นของนายสุรชัย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์นายสุรชัยเด็ดขาด และต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้นายสุรชัยเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายสุรชัยยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5515/2549 ว่า การพิจารณาคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของนายสุรชัยในคดีล้มละลายและไม่ประสงค์เข้าว่าคดีแทนสุรชัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีดังกล่าวจากสารบบความ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง วันที่ 10 มิถุนายน 2556 นายสุรชัยฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2246/2556 ของศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2559 ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2246/2556 พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายสุรชัยเด็ดขาด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5515/2549 ของศาลชั้นต้นว่า การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์ต่อกองทรัพย์สินของนายสุรชัย ไม่ประสงค์เข้าว่าคดีแทนนายสุรชัย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้ดุลพินิจเข้าว่าคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายสุรชัยลูกหนี้แล้ว ดังนั้น การขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างย่อมเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวจะดำเนินการ ประกอบกับขณะนายสุรชัยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไปแล้วไม่อาจเป็นคู่ความได้ นายสุรชัยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2562 ท้ายรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยต้องผูกพันตามคำท้าที่ตกลงกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2246/2556 ไม่ได้วินิจฉัยว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของใคร และข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณามิได้ระบุว่าให้ถือเอาผลคดีของศาลชั้นต้น จึงต้องหมายถึงผลคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจนำผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมาวินิจฉัยตามคำท้าได้ ชอบที่ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานอื่นของคู่ความต่อไป เห็นว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2246/2556 ของศาลชั้นต้นมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า การรับโอนทรัพย์พิพาทของโจทก์ทั้งสองชอบหรือไม่ คู่ความจึงตกลงท้ากันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวที่วินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท หากผลคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร ให้ถือตามผลคดีนั้น และให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะในเรื่องค่าเสียหาย โดยคู่ความไม่ติดใจในประเด็นอื่น ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวคู่ความมิได้ตกลงกันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2246/2556 เป็นข้อวินิจฉัยตามคำท้า คำพิพากษาศาลชั้นต้นอาจถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียได้ จึงต้องแปลเจตนาของคู่ความว่าประสงค์ให้ถือเอาผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเป็นข้อวินิจฉัยในประเด็นที่ท้ากัน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนั้นแล้ว นายสุรชัยยื่นอุทธรณ์และฎีกาต่อมา ดังนั้นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2246/2556 ของศาลชั้นต้นจึงยังไม่ถึงที่สุด นอกจากนี้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยท้ากัน จึงไม่อาจนำผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมาเป็นข้อวินิจฉัยในคดีนี้ได้ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าคดีแพ่งที่คู่ความตกลงท้ากันนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยวินิจฉัยว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยชอบตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 นายสุรชัยไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของนายสุรชัยอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2562 ท้ายรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตรงตามคำท้าที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 โจทก์ทั้งสองและจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำท้าที่ตกลงกันตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว คดีนี้จึงต้องฟังว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาโดยชอบ เมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ