คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077-3078/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 มีใจความว่า “…ข้าพเจ้า นายกิตติวัฒน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต… และนายวิรัช ศรีสวัสดิ์… ผู้รับมอบอำนาจขอทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อศาลนี้ว่า เมื่อคดีถึงที่สุดโจทก์แพ้คดีจำเลย และไม่สามารถนำเงินมาชำระให้จำเลยได้ตามคำพิพากษา ข้าพเจ้ายอมให้บังคับคดีเอาจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 197889, 197890 ตำบลประเวช อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาสำนักเพชรบุรี กรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลจี. สพ.201/2533 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาวางประกันต่อศาลแล้ว” ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระและยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ประกันทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันทั้งสองจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือศาลฎีกาศาลใดศาลหนึ่งพิพากษากลับให้จำเลยแพ้คดี หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 ให้แก่โจทก์และทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 แต่ก็เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปโดยผิดหลง และศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 แล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 แก่โจทก์ และการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่ามีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ ผู้ค้ำประกันทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533
การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ตามคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2546 วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 8 มกราคม 2547 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 กรณีจึงต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าว ต้องถือว่าศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นการบังคับคดีย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะบังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปโดยไม่มีเวลาครบกำหนด ศาลฎีกาจึงกำหนดเวลาให้ครบถ้วนสมบูรณ์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกนายอนุวัตรหรืออภิวัฒน์ ว่าโจทก์ เรียกนางปิ่นทิพย์ ว่าจำเลย
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินค่าปรับ 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยเฉพาะดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 27,739.80 บาท กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งว่า ถ้าโจทก์หาประกันสำหรับต้นเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี มาให้จนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ระหว่างอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง โจทก์เสนอหลักประกันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 197889 และ 197890 ตำบลประเวช อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ของผู้ค้ำประกันที่ 1 และหนังสือสัญญาค้ำประกันเลขที่ แอลจี. สพ.201/2533 ของผู้ค้ำประกันที่ 2 โดยได้ทำสัญญาค้ำประกันตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน โจทก์ฎีกาและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ถ้าโจทก์หาประกันสำหรับจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2531 จนถึงวันทราบคำสั่งนี้และต่อไปอีก 2 ปี มาวางศาลจนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ระหว่างฎีกา มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์รับโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 กลับคืนไปและนัดพิจารณาหลักประกันในชั้นฎีกา โจทก์เสนอหลักประกันเป็นห้องชุด หนังสือรับรองการทำประโยชน์ สมุดเงินฝากประจำ และหนังสือค้ำประกันของธนาคาร โดยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่าหลักประกันไม่เพียงพอ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวและให้โจทก์นำหลักประกันมาวางเพิ่มเติมให้เพียงพอ โจทก์ไม่สามารถหาประกันมาวางเพิ่มเติมได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์แพ้คดี ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอให้ออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 แล้วดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ค้ำประกันทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ค้ำประกันทั้งสองมีว่า ผู้ค้ำประกันทั้งสองยังต้องผูกพันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 หรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวมีใจความว่า “…ข้าพเจ้า นายกิตติวัฒน์… และนายวิรัช… ผู้รับมอบอำนาจขอทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อศาลนี้ว่า เมื่อคดีถึงที่สุดโจทก์แพ้คดีจำเลย และไม่สามารถนำเงินมาชำระให้จำเลยได้ตามคำพิพากษา ข้าพเจ้ายอมให้บังคับคดีเอาจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 197889, 197890 ตำบลประเวช อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาสำนักเพชรบุรี กรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลจี. สพ.201/2533 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาวางประกันต่อศาลแล้ว” ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระและยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ประกันทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันทั้งสองจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือศาลฎีกาศาลใดศาลหนึ่งพิพากษากลับให้จำเลยแพ้คดีหรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 ให้แก่โจทก์และทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 แต่ก็เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปโดยผิดหลง และศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2536 คำสั่งศาลชั้นต้นที่คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 แก่โจทก์ และการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่ามีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ ผู้ค้ำประกันทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ส่วนที่ผู้ค้ำประกันที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2537 จำเลยชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2547 นับถึงบัดนี้เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีได้อีกต่อไปนั้น เห็นว่า การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ตามคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2546 วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 8 มกราคม 2547 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 กรณีจึงต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าว ต้องถือว่าศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นการบังคับคดีย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะบังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 ฎีกาของผู้ค้ำประกันทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปโดยไม่มีเวลาครบกำหนด ศาลฎีกาจึงกำหนดเวลาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
พิพากษายืน โดยให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share