คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีทั้งเจ็ดสำนวนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันเป็นการกระทำความผิดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกแต่ละกระทง ความผิดไม่เกิน 10 ปี พยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นชุด เดียวกันผู้เสียหายเป็นหน่วยราชการเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำผิดทั้งเจ็ดสำนวนรวมเป็นคดีเดียวกันได้ แม้ศาลจะเรียงกระทงลงโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ทั้งเจ็ดสำนวนแล้วมีโทษจำคุกเกินกว่า20 ปี ก็คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ได้เพียง 20 ปี ตามที่กำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 91(2) แต่การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไปโดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันเช่นนี้ ศาลก็จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่าที่กำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 91(2) ไม่ได้.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้อง รวม 7 สำนวน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกสำนวน โดยนับโทษติดต่อกันรวม 34 ปี1 เดือน จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่เป็นรวมกันไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งกำหนดโทษใหม่เป็นจำคุกรวม 20 ปี ปรากฏตามคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่12 ธันวาคม 2528 โดยศาลชั้นต้นออกหมายจำคุก 7 ฉบับ ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าหากนับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี จำเลยที่ 2 ได้รับผลตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2531 ต้องปล่อยตัวและกรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือหารือต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องการออกหมายรวมโทษว่าควรเป็นอย่างไรจึงจะไม่เป็นปัญหาต่อการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบการพระราชทานอภัยโทษ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีทั้งเจ็ดสำนวนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ลักษณะการกระทำแยกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด และได้แยกพิจารณาต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 ทั้งเจ็ดสำนวน ไม่เข้ากรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ที่แก้ไขใหม่ ที่จะได้รับโทษน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ให้นับโทษต่อกันไว้เดิมทั้งเจ็ดสำนวน จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 2 ได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 8ตุลาคม 2528 และเพิกถอนคำสั่งศาลฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2528 กับให้เพิกถอนหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดที่ 6343-6349/2528 ลงวันที่16 ธันวาคม 2528 และให้ใช้หมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเดิมในแต่ละสำนวน คำนวณระยะเวลาจำคุกแก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าคดีทั้งเจ็ดสำนวนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันนั้น เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารซึ่งมีอัตราโทษจำคุกแต่ละกระทงความผิดไม่เกิน 10 ปี พยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใหญ่ก็เป็นชุดเดียวกัน ผู้เสียหายก็เป็นหน่วยราชการเดียวกันเพียงแต่เรียกชื่อต่างกันเท่านั้น โจทก์จำเลยก็เป็นคู่ความเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำผิดทั้งเจ็ดสำนวนรวมกันเป็นคดีเดียวกันได้ แม้ศาลจะเรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ทั้งเจ็ดสำนวนแล้ว มีโทษจำคุกเกินกว่า 20 ปี ก็คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ได้เพียง 20 ปี ตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แต่การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป โดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันอย่างเช่นในกรณีนี้ ศาลก็จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่าที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ไม่ได้การที่ศาลอุทธรณ์ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ทั้งเจ็ดสำนวนติดต่อกันรวมเป็นจำคุก 34 ปี 1 เดือนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา…”
พิพากษาแก้เป็นว่า คงให้จำคุกจำเลยที่ 2 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share