แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องจัดเก็บจากกำไรสุทธิที่คำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำรอบระยะเวลาบัญชี และต้องเป็นรายได้ที่นิติบุคคลนั้นได้รับจริงๆ ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่ากำไรของนิติบุคคลนั้นมีหลายจำนวนแตกต่างกัน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจถัวเฉลี่ยกำไรที่โจทก์ได้รับ นำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณกำไรสุทธิได้.
โจทก์มีกำไรจากการขายเบียร์และโซดาลังละ 3 บาทขึ้นไปถึง10 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อัตราถัวเฉลี่ยที่โจทก์มีกำไรลังละ 3 บาท ซึ่งเป็นกำไรต่ำสุดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจากการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ประจำปี พ.ศ. 2519ถึงพ.ศ. 2521 โจทก์แสดงรายรับจากการขายสินค้าไว้ไม่ครบถ้วนและลงบัญชีไว้ไม่ถูกต้องและประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มรวม 3 ปี เป็นเงิน 233,503.44 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์ได้แสดงรายรับจากการขายสินค้าคือ เบียร์ โซดา ไว้ถูกต้องแล้ว โดยโจทก์ขายส่งเป็นส่วนใหญ่ มีกำไรเพียงลังละ 1 บาท การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาขายซึ่งโจทก์มีกำไรขั้นต้นลังละ 3 บาท เป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จากการที่เจ้าพนักงานประเมินออกไปสอบหาข้อมูลจากร้านค้าซึ่งรับซื้อเบียร์ โซดาจากโจทก์ไปขายต่อ ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรสูงกว่าที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้มาก โจทก์ระบุว่าโจทก์มีกำไรเพียงลังละ 1 บาท เพื่อความเป็นธรรมเจ้าพนักงานประเมินคำนวณกำไรเพียงลังละ 3 บาท เป็นเกณฑ์คำนวณภาษีเงินได้ ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้รวมทั้งเงินเพิ่มประจำปี พ.ศ. 2519ถึง พ.ศ. 2521 เป็นเงิน 233,503.44 บาท การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกเลิกการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าในการขายเบียร์และโซดาของโจทก์ปรากฏจากใบเสร็จรับเงินของโจทก์ โจทก์มีกำไรลังละ 2 บาทและ 3 บาท และที่มีกำไรลังละ 5 บาทและ 8 บาทก็มีหลายรายและจากการสอบถามจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์มีกำไรลังละ 10 บาท โจทก์เคยยอมรับต่อเจ้าพนักงานว่า โจทก์ขายส่งเบียร์และโซดาให้ลูกค้ามีกำไรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าลังละ 3 บาท แล้ววินิจฉัยว่าแม้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องจัดเก็บจากกำไรสุทธิที่คำนวณได้จากรายได้ที่นิติบุคคลได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ หรือเนื่องจากกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีและต้องเป็นรายได้ที่นิติบุคคลนั้นได้รับจริง ๆ ก็ตาม แต่การขายของโจทก์มีกำไรหลายจำนวนแตกต่างกัน ทั้งโจทก์เองก็แสดงการขายไว้คลาดเคลื่อนจากหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 คิดถัวเฉลี่ยกำไรที่โจทก์ได้รับลังละ 3 บาท ซึ่งเป็นกำไรค่อนข้างต่ำในกำไรหลายจำนวนที่โจทก์ได้รับและประเมินให้โจทก์เสียภาษีโดยอาศัยอัตราถัวเฉลี่ยดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้และเงินเพิ่มจึงเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและชอบด้วยกฎหมายคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.