แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวมิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดี โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อนได้ กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน เมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมายดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 328 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์นำเข้าและซื้อขายสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อระหว่างเดือนธันวาคม 2533 ถึงเดือนกรกฎาคม2537 จำเลยนำสินค้าต่าง ๆ เข้ามาในราชอาณาจักร รวม 59 ใบขน โดยจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงว่าเป็นสินค้านำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า และจำเลยแสดงความจำนงขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ โดยจำเลยสำแดงการนำเข้าสินค้า รายการสินค้า จำนวนเงินค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมพิเศษ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงแล้ว เห็นว่าบางรายการต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยยินยอมเพิ่มราคาสินค้าและเพิ่มค่าภาษี และถือเอาราคาสินค้าและจำนวนอากรดังกล่าวเป็นราคาสำแดงในการยื่นใบขนสินค้า เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับใบขนสินค้าที่มีการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 จำเลยชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วในการนำสินค้าเข้าตามใบขนสินค้าจำนวน 59ใบขนนี้ จำเลยยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงโดยขอให้ธนาคารค้ำประกันแทนโจทก์ที่ 1 ยอมรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารและตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปแต่จำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตและส่งออกภายใน 1 ปี จำเลยจึงต้องชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์ทั้งสอง กับต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2569มาตรา 112 จัตวา ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ค้างชำระ เงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระแต่ไม่เกินจำนวนภาษี และต้องเสียเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งจำนวนค่าภาษีและการประเมินซึ่งจำเลยต้องชำระให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าภาษีไปชำระและมิได้อุทธรณ์การประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ธนาคารผู้ค้ำประกันนำเงินไปชำระ เมื่อธนาคารนำเงินมาชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้นำเงินที่ธนาคารชำระหักจากเงินเพิ่มซึ่งจำเลยต้องชำระดังกล่าวโดยคำนวณถึงวันที่ธนาคารนำเงินมาชำระและเงินที่เหลือหลังจากเงินเพิ่มแล้วจึงนำมาหักชำระเป็นค่าภาษีที่จำเลยต้องชำระ คงเหลือจำนวนเงินภาษีที่จำเลยต้องชำระเพิ่มตามใบขนสินค้าจำนวน 59ใบขนอีก จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้คำนวณถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินภาษีอากรทั้งสิ้นจำนวน 2,856,366.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมพิเศษและเงินเพิ่มตามคำฟ้องรวมจำนวน 2,856,366.75บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่จำเลยชำระขาดตามใบขนสินค้าตามลำดับที่ 1 ถึง 39 รวมจำนวน1,706,623.87 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์ทั้งสองแล้วตามหนังสือค้ำประกันของธนาคาร เมื่อจำเลยมิได้นำสินค้าตามฟ้องมาผลิตและส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำเข้า เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มภายในระยะเวลาดังกล่าวทันที ถือเสมือนว่าจำเลยได้ชำระค่าภาษีอากรแล้ว จึงไม่มีหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสองอีก และเมื่อธนาคารผู้ค้ำประกันนำเงินตามหนังสือค้ำประกันไปชำระแก่โจทก์ที่ 1 พนักงานเจ้าหน้าที่นำไปหักชำระเงินเพิ่มก่อนแล้วจึงนำมาหักชำระค่าภาษีที่จำเลยต้องชำระเป็นการไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรโดยทันที เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้นำเข้าสินค้าในราชอาณาจักร จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มหลังจากล่วงเลยกำหนด 1 ปีแล้ว จำเลยชำระค่าภาษีล่วงหน้าโดยหนังสือค้ำประกันของธนาคารแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินเพิ่มจากจำเลยอีก การคำนวณหักภาษีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงินเพิ่มไม่ถือว่าเป็นเงินอากรที่จำเลยต้องชำระโจทก์ที่ 1 จึงฟ้องให้จำเลยชำระเงินเพิ่มนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปตามฟ้อง หรือจะให้จำเลยต้องรับผิดถัดจากวันฟ้องอีกไม่ได้ กรณีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาจะนำมาใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ค้างชำระจำนวน2,247,896.96 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยคิดตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี กำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าระหว่างเดือนธันวาคม2533 ถึงเดือนกรกฎาคม 2537 จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 59 ใบขนจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงว่าเป็นสินค้านำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า และจำเลยแสดงความจำนงขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482) มาตรา 19 ทวิ โดยให้ธนาคารทำสัญญาค้ำประกันค่าภาษีไว้ จำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตและส่งออกภายใน 1 ปี และมิได้นำเงินค่าภาษีไปชำระ จึงต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นอัตราร้อยละ 10ของเงินเพิ่มภาษีการค้า พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ค้ำประกันนำเงินไปชำระตามสัญญาค้ำประกัน เมื่อผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่นำมาชำระเงินเพิ่มก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำมาชำระค่าภาษีซึ่งไม่เพียงพอยังคงค้างชำระอยู่จำนวนหนึ่ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินที่ผู้ค้ำประกันนำมาชำระไปหักชำระหนี้ค่าภาษีก่อนเป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่น มิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กันให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อนเมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินไปหักชำระค่าภาษีก่อนเป็นการชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้”