แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ดูหมิ่น” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เป็นที่เกลียดชังของประชาชน โดยถ้อยคำดังกล่าวจะต้องเป็นการเหยียดหยามผู้อื่น หาใช่ตัวผู้กล่าวเองไม่ คำกล่าวของจำเลยในที่ประชุมกรรมการโรงเรียนซึ่งผู้เสียหายเป็นประธานการประชุมที่ว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” นั้น จำเลยมิได้เหยียดหยามตัวผู้เสียหายว่ามีสถานภาพอย่างขี้ข้าหรือผู้รับใช้ แต่เป็นการพูดถึงสถานภาพของครูในโรงเรียน รวมทั้งจำเลยว่าเป็นผู้รับใช้ของผู้เสียหาย เป็นการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและครูในโรงเรียนว่าถูกผู้เสียหายใช้งานเยี่ยงคนรับใช้ แม้จำเลยใช้คำว่า “ขี้ข้า” ซึ่งเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพมากล่าวในที่ประชุม แต่เมื่อคำว่า “ขี้ข้า” ในที่นี้จำเลยหมายถึง ตัวจำเลยเองและครูในโรงเรียนที่ถูกผู้เสียหายใช้งาน มิใช่หมายถึงตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ใช้งาน ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าตามความหมายใน ป.อ. มาตรา 393
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 จำคุก 15 วัน ปรับ 900 บาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 , 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์มีว่า คำกล่าวของจำเลยที่ว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “ดูหมิ่น” ตาม ป.อ. มาตรา 393 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอายเป็นที่เกลียดชังของประชาชน โดยถ้อยคำที่กล่าวจะต้องเป็นการเหยียดหยามผู้อื่น หาใช่ตัวผู้กล่าวเองไม่ คำว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” นั้น จำเลยมิได้เหยียดหยามตัวผู้เสียหายว่ามีสถานภาพอย่างขี้ข้าหรือผู้รับใช้ แต่เป็นการพูดถึงสถานภาพของครูในโรงเรียนรวมทั้งจำเลยว่าเป็นผู้รับใช้ของผู้เสียหาย เป็นการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและครูในโรงเรียนว่าถูกผู้เสียหายใช้งานเยี่ยงคนรับใช้ แม้จำเลยใช้คำว่า “ขี้ข้า” ซึ่งเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพมากล่าวในที่ประชุม แต่เมื่อคำว่า “ขี้ข้า” ในที่นี้จำเลยหมายถึงตัวจำเลยเองและครูในโรงเรียนที่ถูกผู้เสียหายใช้งาน มิใช่หมายถึงตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ใช้งาน ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าตามความหมายใน ป.อ. มาตรา 393
พิพากษายืน.