คำสั่งคำร้องที่ 365/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มิใช่สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งหมด
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่จำเลยควรจะได้รับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นสมควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยจากศาลสูง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 114)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก,91 ที่แก้ไขแล้วรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 113)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 114)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจริงตามฟ้องโจทก์ พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยสองกระทง กระทงละ 4 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ส่วนข้อฎีกาที่จำเลยอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธ ในชั้นสอบสวนและชั้นศาลย่อมเป็นเหตุบรรเทาโทษศาลควร ลดโทษให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เห็นว่าเป็นฎีกาดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาล ซึ่งเป็น ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน และที่จำเลยฎีกา ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อเดือนตุลาคม 2532 และต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2533 จำเลยได้กระทำชำเรา ผู้เสียหายอีก เป็นการกระทำผิดต่อเนื่องจากเจตนาเดิม จึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว ศาลควรลงโทษจำเลยเพียง กรรมเดียวนั้น เห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่เป็นสาระ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share